การ์ตูน-นิยาย-ธรรมะ-การเงิน ติดอันดับขายดี ด้านไลท์โนเวล มาแรงชวนจับตา

สังคม
9 เม.ย. 56
13:22
174
Logo Thai PBS
การ์ตูน-นิยาย-ธรรมะ-การเงิน ติดอันดับขายดี ด้านไลท์โนเวล มาแรงชวนจับตา

ถือว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่าที่คิด ทำตลาดโตเพิ่มขึ้นอีก 16%

 นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้สัมภาษณ์ผลสรุปของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด Read For Life การอ่านคือการพัฒนาชีวิต ที่จบไปแล้วว่า ถ้าเทียบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายนปี 2555 ทั้งผู้เข้าร่วมชมงานและยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 16% เป็นเรื่องน่ายินดีที่ยังรักษาความรักในการอ่านได้และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย จากที่เคยมีเข้าชมงานประมาณ 1.4 ล้านคน เพิ่มเป็น 1.7 ล้านคน หรือ 16% มียอดขายโดยรวมที่ 600 ล้านบาท จากเดิมที่ประมาณ 400 ล้านบาท   โดยผู้เข้าชมงานส่วนใหญ่จะอยู่ในวัย 15-30 ปี และมาเป็นกลุ่มๆเพื่อเลือกซื้อด้วยกัน หลายคนมาแล้วก็มาอีก ปีนี้ที่น่าสนใจคือเด็กผู้ชายเยอะขึ้น อาจเพราะเราทำถนนสายการ์ตูนในห้องบอลรูมทำให้พวกเขามีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น 

 
นายวรพันธ์ กล่าวด้วยว่า หนังสือหมวดขายดี  อยู่ในกลุ่มของการ์ตูน นวนิยาย ธรรมะพัฒนาจิตใจ รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจการเงินส่วนบุคคล หนังสือที่อยู่ในความสนใจก็คือหนังสือแนวคอมมิกหรือการ์ตูน รองมาจะเป็นหมวดนวนิยายซึ่งกลุ่มนี้คนอ่านจะโตหน่อย15ปีขึ้นจนถึง30ปีกว่าๆ เป็นการอ่านเพื่อสาระบันเทิง อีกหมวดที่น่าสนใจก็คือหมวดหนังสือแนวธรรมะหรือแนวจิตวิทยาพัฒนาตนเองที่มีอัตราการพิมพ์การอ่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และที่มาแรงช่วงนี้ก็คือหนังสือแนวเกี่ยวกับการบริหารเงิน การบริหารตลาดเงิน ตลาดหุ้นถือว่าเป็นหนังสืออีกกลุ่มหนึ่งคนรุ่นใหม่ซึ่งชอบชีวิตอิสระ ให้เงินทำงานแทนตน บางคนที่มางานหนังสือไม่มีหนังสือเป้าหมายที่จะต้องมาซื้อทันที แต่มาเพื่อค้นหาหนังสือที่เขาอยากอ่าน
 
มีหนังสือแนวหนึ่งที่มาแรงและน่าสนใจมากคือไลท์ โนเวล ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเล็ก คล้ายการ์ตูนกึ่งนิยายภาพ กลุ่มนี้ขยายตัวขึ้นมาก เป็นหนังสือแนวกลุ่มการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย จะว่าไปแล้วงานครั้งนี้ไม่ถึงกับมีเล่มเด่นระดับทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ แต่จะมีความหลากหลายของประเภทหนังสือและกลุ่มคนอ่านที่น่าสนใจมาก” นายวรพันธ์กล่าวสรุป
 
ส่วนของการซื้อลิขสิทธิ์ยังต่างประเทศนั้น นายวรพันธ์เผยว่าเป็นปีที่ได้รับการตอบรับอย่างน่าชื่นใจ เพราะมีสำนักพิมพ์จากต่างประเทศสนใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือไทยไปแปลมากขึ้น โดยเฉพาะไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งหนังสือที่ได้รับความสนใจนั้น ส่วนใหญ่เป็นหนังสือสำหรับเด็ก นวนิยาย หนังสือภาพต่างๆที่มีความเป็นสากล ซึ่งทำให้ความพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายลิขสิทธิ์ในอาเซียนของไทยมีความชัดเจนขึ้น
 
“ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียนแล้ว ถือว่าสำนักพิมพ์ไทยมีความเข้มแข็งในระดับต้นๆและความสำเร็จจากการซื้อขายลิขสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าเมื่อก้าวเข้าสู่ AECแล้ว การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่ความเป็นไปได้สูง แต่สำนักพิมพ์เองก็ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองและสร้างจุดเด่นให้แตกต่างด้วย”
 
นายวรพันธ์เผยว่าการจัดงานสัปดาห์หนังสือนั้น เป็นการวัดสถานการณ์ความสนใจทางการอ่านได้เพียงในภาคส่วนของกรุงเทพและปริมณฑล เพราะนักอ่านส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มนี้เนื่องจากการเดินทางที่สะดวก สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจึงพยายามที่จะขยายโอกาสทางการอ่านไปต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น
                
“เราต้องเอาหนังสือไปให้เขา เพราะต่างจังหวัดร้านหนังสือน้อย ความหลากหลายของหนังสือก็น้อย การอ่านไม่ควรจะกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพ ที่ผ่านมาสมาคมเองก็พยายามจะจัดงานในต่างจังหวัด ซึ่งนอกจากหนังสือราคาพิเศษแล้ว เรายังจัดอบรมสัมมนากิจกรรมทางการอ่านต่างๆด้วย อย่างปีนี้นอกจากชลบุรี อุบลราชธานีแล้ว ยังมีการเจรจาที่ขอนแก่น อุดรธานี และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลาด้วย เพราะกรุงเทพไม่ใช่ประเทศไทย การอ่านจะต้องไปให้ถึงในทุกพื้นที่”
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง