วันนี้ (16 ก.ค.2568) นายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เดินหน้าปฏิรูประบบติดตามและบริหารจัดการวัดทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ โดยจะมีการจัดทำระบบข้อมูล เพื่อควบคุมและรายงานข้อมูลทรัพย์สินของวัดกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมทั้งเปิดเผยความเคลื่อนไหวของเจ้าอาวาส รวมถึงประวัติการจำพรรษาอย่างโปร่งใสให้ประชาชนรับรู้
ในประเด็นการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด นายสุชาติ ระบุว่า การจัดซื้อจัดจ้างในวัดจะต้องมี "คณะกรรมการตรวจสอบ" อย่างเป็นระบบ โปร่งใสและมีผู้รับรู้ร่วมกันทุกขั้นตอน นอกจากนี้ได้มีประกาศเป็นกฎกระทรวงห้ามวัดเก็บเงินสดไว้ในวัดเกิน 100,000 บาท ส่วนยอดเงินในบัญชีธนาคารของวัดสามารถมีได้ตามความเหมาะสม แต่จะต้องรายงานยอดเงินต่อ พศ.ทุกเดือนและทุกสิ้นปี
ย้ำบทบาท พศ. "คุ้มครอง-ส่งเสริม" ไม่ใช่ "ลงโทษ"
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ระบุอีกว่า เพื่อป้องกันความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา ต้องไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ที่กระทบศรัทธาเกิดขึ้นซ้ำอีก ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดจะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยร่วมมือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่ เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อส่งสัญญาณให้ตำรวจเข้าไปดำเนินคดีอย่างทันท่วงที เนื่องจากเจ้าหน้าที่ พศ. ไม่มีอำนาจจับกุมเอง
นอกจากนี้ยังชี้แจงว่า พศ. ไม่ใช่องค์กรที่มีหน้าที่จับกุม แต่เป็นหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ "คุ้มครอง-ส่งเสริม" พระพุทธศาสนา และต้องทำงานเชิงป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการบ่อนทำลายศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยจะเริ่มจากการประเมินผลการทำงานของ พศ.ทุกจังหวัดภายใน 3 เดือน วัดผลงานเหมือนการประเมิน KPI หากพื้นที่ใดยังมีเหตุฉาวซ้ำซาก จะต้องรับผิดชอบ

เสนอแก้กฎหมาย พ.ร.บ.คุมเข้มพระ-สีกา
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งนโยบายสำคัญ คือการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยเฉพาะในประเด็นการลงโทษพระที่ประพฤติผิดวินัย เช่น เสพยา หรืแต่งกายเลียนแบบพระเพื่อเรี่ยไรเงิน โดยจะเพิ่มโทษทั้งพระและสีกาให้ชัดเจนและเข้มงวดขึ้น เช่น กรณีเลียนแบบพระเพื่อเรี่ยไร จะมีโทษปรับ 2,500 บาท รวมถึงขยายบทลงโทษใหม่ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการประชาพิจารณ์และเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
พร้อมระบุว่า อย่าเพิ่งกล่าวโทษว่าสำนักพุทธฯ เละเทะ แม้ว่าบางส่วนอาจหย่อนยานจริง แต่หลังจากนี้จะเปลี่ยนโหมดเป็นการทำงานเชิงรุก ขอเวลาอีก 2-3 เดือนก่อนจะประเมินผลใหม่ หากยังเกิดเหตุการณ์ซ้ำซากจะถือเป็น "สัญญาณไม่ดี" และจะต้องดำเนินการทันที
ด้าน ผอ.พศ. ระบุว่า กำลังเตรียมพัฒนาบทบาทของ "ไวยาวัจกร" หรือกรรมการผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้านการบริหารวัด โดยมีแนวคิดจะอบรมความรู้ด้านการเงิน การบริหารทรัพย์สิน และจะผลักดันให้ไวยาวัจกรมีเงินเดือนเหมือนกับ อสม.ของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมจัดทำระบบขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของวัดทุกแห่งในระยะยาว
อ่านข่าว
"บิ๊กเต่า" ติงสำนักพุทธฯ ไม่เข้มงวด จ่อรื้อคดีพระสงฆ์ถูกปัดตก
ตร.กองปราบ เตรียมเบิกตัว "สีกากอล์ฟ" ดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง
ย้อนรอย “ถอดสมณศักดิ์” ในพุทธจักรไทย กว่า 100 ปี มีมาแล้วกี่รูป