เล่าขานตำนานสงกรานต์ไทย กับเกร็ดน่ารู้ในงานเทศกาลสงกรานต์ 2556

10 เม.ย. 56
08:28
477
Logo Thai PBS
เล่าขานตำนานสงกรานต์ไทย กับเกร็ดน่ารู้ในงานเทศกาลสงกรานต์ 2556

คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต "สํ-กรานต" แปลว่า ย่างขึ้น ก้าวขึ้น การย้ายที่ หรือ เคลื่อนที่ คือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ย่างจากราศีมีนสู่ราศีเมษ

 วันมหาสงกรานต์ (13 เมษายน) วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ จึงเป็นการก้าวขึ้น หรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึง ใหม่

วันเนา  (14 เมษายน) คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา 1 วัน วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คือ อยู่ประจำที่แล้ว
วันเถลิงศก (16 เมษายน) คือ "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่าการย่างขึ้นสู่จุดเดิมสำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็นวันที่ 3 ก็หมายความว่าอย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ไม่น้อยกว่า 1 องศา แล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่  2 หรือที่ 3 ก็ได้
ตามจารึกในวัดพระเชตุพนฯ ได้กล่าวถึงตำนานสงกรานต์เอาไว้ว่า “ท้าวกบิลพรหมได้แพ้พนันการทายปัญหาแก่ธรรมบาลกุมาร จนต้องตัดเศียรตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใดจะเป็นอันตรายต่อที่นั้น หากตั้งไว้บนแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ โยนขึ้นบนอากาศฝนจะแล้ง ทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง 
 
ดังนั้น ธิดาทั้งเจ็ดจึงต้องนำพานมารองรับ และนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาส ครั้นถึงกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้งเจ็ดจะทรงพาหนะต่างๆ ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่รอบเขาพระสุเมรุ”  
                   
จึงเกิดเป็น “ตำนานนางสงกรานต์” ซึ่งเป็นคติความเชื่ออยู่ในตำนานสงกรานต์ ว่า ทุก ๆ หนึ่งปี  ธิดาทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหม จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งการกำหนดเรื่องของนางสงกรานต์เป็นกุศโลบายเพื่อให้คนโบราณซึ่งยังไม่มีปฏิทินบอกวันเวลาและคนยังรู้หนังสือกันน้อยได้รู้ว่า วันมหาสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติตรงกับวันใด ทางการจึงได้ใช้ภาพของนางสงกรานต์ทั้ง ๗ เทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ โดยแต่ละนางจะมีนามเรียกประจำตน ภักษาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะแตกต่างกันตามแต่ละวัน   
 
ในปี 2556 นี้ นางสงกรานต์นามว่า มโหทรเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว(ผักตบชวา) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย หัตถ์ขวาทรงจักร หัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์หลับเนตร(นอนหลับตา) มาเหนือหลังมยุรา(นกยุง) เป็นพาหนะ
                   
ประเพณีนิยมในเทศกาลสงกรานต์ไทยในอดีต หญิงสาวจะแต่งกายด้วยผ้าไทย ส่วนผู้ชายจะใช้เสื้อลายดอกสีสันสดสวย และผูกผ้าขาวม้าที่เอว  กิจกรรมสำคัญคือการทำบุญตักบาตร ,การสรงน้ำพระ, การรดน้ำผู้ใหญ่, การปล่อยนกปล่อยปลา และการขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญแล้ว  ยังมีการละเล่นแบบไทยๆ  อาทิ ว่าว  ม้าก้านกล้วย รวมทั้งอาหารและขนมไทย อาทิ ข้าวแช่  กะละแม ขนมจ๊อก ลูกชุบ เป็นต้น หรือการประดิษฐ์น้ำอบน้ำปรุง และดินสอพอง ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันในเทศกาลสงกรานต์ 
              
ว่ากันว่า ดินสอพอง หรือ มาร์ลสโตน จัดอยู่ในสมุนไพรจำพวกแร่ธาตุ หรือเรียกว่าเครื่องยาธาตุวัตถุ เป็นยาสมุนไพรเก่าแก่ปรากฏมีอยู่ใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” คนโบราณมักใช้นำมาทำแป้งประร่างกายเพื่อให้เย็นสบาย เมื่อผสมน้ำหอมเข้าไปด้วยกลายเป็นแป้งกระแจะ มีสรรพคุณแก้ผิวหนังแพ้ ลมพิษ ผด ผื่น และคัน และเป็นยาห้ามเหงื่อทำให้ร่างกายเย็นสบายไม่ทำให้ร่างกายเหนียวเหนอะ สามารถป้องกันแดดและยังช่วยขจัดสิวเสี้ยนอีกด้วย
               
การนำมาดินสอพองมาใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นหน้าร้อนจึงเป็นภูมิปัญญาสำคัญประการของคนในสมัยโบร่ำโบราณ
 
แต่ ปัจจุบันวันสงกรานต์ในความหมายสากล ได้มีความหมายบิดเบือนไปจากอดีตมาก จนเกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น “Water Festival” ซึ่งมีความหมายเพียงการเล่นสาดน้ำเท่านั้น แท้จริงแล้ววันสงกรานต์ไม่ได้มีกิจกรรมเพียงแค่การสาดน้ำเท่านั้น 
            
นอกจากนี้จากจุดเริ่มต้นของถนนข้าวสาร ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างคึกคัก ทำให้จังหวัดอื่นๆ ได้นำชื่อไปตั้งเป็นถนนสารพัดข้าว จนทุกวันนี้มีถนนข้าวแปลกๆ นับสิบชื่อ อาทิ ถนนข้าวยำ จังหวัดปัตตานี, ถนนข้าวหลาม จังหวัดชลบุรี, ถนนข้าวสุก จังหวัดอ่างทอง, ถนนข้าวกล่ำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และถนนข้าวแต๋น จังหวัดน่าน เป็นต้น
            
รู้หรือไม่ว่าที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เนื่องจากมีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด ชาวเกาะสีชังจึงไม่นิยมเล่นสาดน้ำ จึงเกิดประเพณี สงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ เป็นการละเล่นท้องถิ่นที่ให้หนุ่มๆ อุ้มสาวลงน้ำบริเวณชายหาด โดยมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว
 
เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่ารู้ของเทศกาลสงกรานต์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บอกเล่าให้ทุกท่านได้เรียนรู้ในเทศกาลสงกรานต์ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง