นักวิชาการชี้ไทยทักท้วงอำนาจศาลโลกยาก คดีปราสาทพระวิหาร

การเมือง
16 เม.ย. 56
07:43
105
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ไทยทักท้วงอำนาจศาลโลกยาก คดีปราสาทพระวิหาร

พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถ้อยแถลงของฝ่ายกัมพูชาในครั้งแรกต่อศาลโลก เป็นข้อมูลที่กล่าวหาฝ่ายไทยและบิดเบือนข้อเท็จจริง รวมถึงการสร้างภาพ ขณะที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะศึกษาและติดตามคดีปราสาทพระวิหาร กล่าวยอมรับว่าคาดไม่ถึงกับข้อมูลที่ฝ่ายกัมพูชานำมาแถลง ทั้งกรณีอาณาเขตและอำนาจของศาลโลก

ด้วยสาระสำคัญของถ้อยแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ของฝ่ายกัมพูชาครั้งแรกวานนี้ (15 เม.ย.) ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า ฝ่ายไทยต้องกำหนดถ้อยคำที่จะแถลงต่อศาลโลก ตามกำหนดการในวันพรุ่งนี้ (17 เม.ย.) อย่างรัดกุมและรอบด้านโดยเฉพาะการโน้มน้าวให้ศาลโลกยอมรับว่า กัมพูชาได้ยอมรับอาณาเขตที่รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้อมรั้วไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้อยแถลงของกัมพูชา ชี้ให้เห็นถึงอำนาจศาลโลก ที่กัมพูชาเชื่อมั่นมาโดยตลอด เสมือนประพฤติตนเป็น"สุภาพบุรุษ" และด้วยหลักการก็สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งศาลโลกก่อตั้งขึ้น เพื่อผดุงความยุติธรรม แก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยหากคู่กรณีต้องเผชิญกับเหตุความรุนแรง ย่อมต้องชี้ชาดเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น หากฝ่ายไทยทักท้วงอำนาจศาลอาจไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

ผศ.ธำรงศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า คาดไม่ถึงกับถ้อยแถลงของฝ่ายกัมพูชาและเห็นว่า ไทยคงต้องทบทวนว่า การล้อมรั้วขีดเส้นอาณาเขตบนเขาพระวิหาร เป็นการกระทำที่ไทยตีความฝ่ายเดียวหรือไม่ เนื่องจากอดีตที่ผ่านมา ไทยอาจเชื่อมั่นในข้อมูลเดิมที่มีอยู่ และยืนหยัดที่จะต่อสู้ในประเด็นที่เชื่อเท่านั้น

ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงการแถลงของฝ่ายกัมพูชาว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการกล่าวหาและบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยกล่าวหาไทยว่า รุกรานหรือเป็นฝ่ายเริ่มการใช้อาวุธโจมตี ซึ่งไทยต้องประท้วงอย่างจริงจังและชี้แจงอย่างชัดเจน ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่ม ขณะเดียวกันต้องชี้ว่า กัมพูชามีการยั่วยุและใช้ความรุนแรงก่อน รวมถึงการย้ำว่า กัมพูชาสร้างภาพ โดยเฉพาะกรณีทำหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น

ส่วนประเด็นที่กล่าวหาว่า ไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกต่อมาตรการถอนทหารออกจากพื้นที่ และไม่ยอมให้ผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่พิพาทนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมามีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ผ่านการหารือทวิภาคี ทั้งนี้ยังตั้งข้อสังเกตได้ว่า กัมพูชาบิดเบือนข้อมูลว่า คำพิพากษาในอดีตเมื่อปี 2505 เคยรับรองแผนที่ 1:200,000 ของกัมพูชา ทั้งที่ศาลโลกไม่เคยมีการรับรองแต่อย่างใด

นายชวนนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่ทนายความกัมพูชาพยายามหักล้างหนังสือสัญญา หรือ MOU 43 ที่มีการจัดทำหลักเขตระหว่างไทยและกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เพราะไทยถือ MOU 46 เป็นสำคัญในการจัดทำหลักเขตแดน ระหว่าง 2 ประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง