"ไอโอซี"เน้นสอบทุจริต มากกว่าสอบข้อบังคับ

กีฬา
18 พ.ค. 56
15:03
191
Logo Thai PBS
"ไอโอซี"เน้นสอบทุจริต มากกว่าสอบข้อบังคับ

องค์กรกีฬาระดับโลกอย่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ซึ่งมีสมาชิก 205 ประเทศทั่วโลก มีข้อบังคับซึ่งเรียกว่า โอลิมปิก ชาร์เตอร์ หรือกฎบัตร แต่วิธีการใช้บังคับทางการปกครองแตกต่างจากฟีฟ่า ข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละประเทศหรือ เอ็นโอซี ต้องทำตาม แต่ ไอโอซี จะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบกรณีที่มีการทุจริต มีผลประโยชน์แอบแฝง หรือการเมืองเข้าแทรกแซงเท่านั้น

ถ้าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและไม่มีเรื่องร้องเรียน ไอโอซีจะไม่ใช่โอลิมปิกชาร์เตอร์ เข้ามาตรวจสอบ เช่น กรณีซื้อ-ขายคะแนนเสียง ในการคัดเลือกเมืองซอลต์เลค ซิตี้ ของสหรัฐอเมริกาให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2002 ซึ่งคณะกรรมการหลายคนถูกสอบสวน เพราะพบว่ามีความผิดในการรับสินบน

ไอโอซีจะไม่เข้ามาดูข้อบังคับอื่นๆ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการโอลิมปิกหรือ เอ็นโอซี แต่ละประเทศพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น เรื่องของอายุของคณะกรรมการโอลิมปิก ไอโอซี มีการกำหนดอายุที่ชัดเจนคือ คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนปี 1966 จะได้อยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต คนที่ได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่ปี 1967-1999 จะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 80 ปี และคนที่ได้รับการแต่งตั้งนับจากปี 2000 เป็นต้นมา จะอยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 70 ปีเท่านั้น หากไอโอซีเข้ามาตรวจสอบ คณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละประเทศต้องใช้กฎเดียวกับไอโอซี ซึ่งจะทำให้พลตรีจารึก อารีย์ ราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกไทยหมดสิทธิ์อายุย่าง 81 ปี

นอกจากนั้นมีระเบียบเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของประธานไอโอซี ที่กำหนดไว้ 2 วาระ คือวาระแรก 8 ปี และวาระที่ 2 อีก 4 ปี รวมเป็น 12 ปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มเข้ามาทำงาน และป้องการการผูกขาดในตำแหน่ง เรื่องนี้ไอโอซีปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ เอ็นโอซีนำไปปรับใช้เท่านั้น ไม่ได้บังคับ เพราะหากบังคับ  จะทำให้พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกไทยที่ดำรงตำแหน่งในวาระที่ 4 ย่อมผิดระเบียบของ IOC เช่นกัน ขณะที่ ดร.ณัฐ อินทรปาน คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ยอมรับว่าสำหรับประเทศไทยไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากติดภารกิจของ IOC แต่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา

 
ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอของบประมาณจาก ภาษีเหล้าและบุหรี่ มาสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการโอลิมปิกไทย ซึ่งดร.ณัฐ มองว่าไม่ผิดกฎไอโอซี  และโอลิมปิกไทยต้องมีระเบียบการใช้เงินอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นเงินภาษีของประชาชน ซึ่ง สตง.มีสิทธิ์ตรวจสอบได้ แต่ต้องเขียนระเบียบขึ้นมาใหม่แล้วส่งข้อมูลให้ สตง.ตรวจสอบ ขณะที่พลตรี จารึก อารีย์ราชการัณย์ ปฎิเสธที่จะรับงบประมาณส่วนนี้ เพราะไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาล

คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ถือเป็นองค์กรอิสระที่ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง และแม้จะไม่รับเงินจากภาครัฐแต่โอลิมปิกไทยดำเนินกิจการได้โดยระบบสิทธิประโยชน์ และเงินอุดหนุนจากไอโอซี เนื่องจากเอ็นโอซี แต่ละประเทศถือเป็นนิติบุคคล จุดอ่อนคือกฎหมายจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับระเบียบหรือข้อบังคับไม่ได้ จะถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองในทันที เช่น ประเทศอินเดีย และคูเวต พยายามเอากฎหมายภายในประเทศเข้ามาแทรกแทรงเอ็นโอซี ทำให้ ไอโอซี ลงโทษอินเดียและคูเวต ด้วยการตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬา

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง