ส่งออกกุ้งไทย ผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การอุดหนุน ของสหรัฐฯ

สิ่งแวดล้อม
5 มิ.ย. 56
09:59
360
Logo Thai PBS
ส่งออกกุ้งไทย ผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การอุดหนุน  ของสหรัฐฯ

ระยะที่ผ่านมา การส่งออกกุ้งของไทยเผชิญกับหลากหลายปัจจัยท้าทาย ทั้งจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) การแข็งค่าของเงินบาท และการถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ

 ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งเท่ากับ 298 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวสูงถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และทำให้ส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก

 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การเรียกเก็บภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) เบื้องต้นที่ประกาศ ณ 28 พฤษภาคม 2556 จากสหรัฐฯ ต่อสินค้ากุ้ง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันสถานการณ์ส่งออกกุ้งไทยในปี 2556 ซึ่งหากผลการพิจารณาขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากขณะนี้ อัตราภาษีอากรที่ไทยถูกเรียกเก็บ ก็ถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงมากและยังมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งส่วนใหญ่อย่าง จีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย แต่อาจทำให้คู่แข่งในตลาดส่งออกสหรัฐฯ อย่างเอกวาดอร์และอินโดนีเซียมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป
 
สำหรับการส่งออกกุ้งไทยในระยะถัดไป ยังต้องจับตาการคลี่คลายปัญหาโรคกุ้งตายด่วน และค่าเงินบาทที่หากปรับตัวในทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น คงจะช่วยประคองให้การส่งออกกุ้งในครึ่งหลังของปี 2556 ฟื้นตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยสำหรับภาพทั้งปี 2556 อาจหดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 19-27

ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งไทยยังจำเป็นต้องเร่งคลี่คลายปัจจัยลบที่เกิดขึ้น และเสริมจุดแข็งด้วยการเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้นำเข้าในตลาดหลักและตลาดศักยภาพใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ โดยเฉพาะจากความเป็นไปได้ที่สินค้าส่งออกของไทย รวมถึงกุ้ง จะถูกตัดสิทธิ GSP จากตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ในปี 2557

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง