อาจารย์วิศวะ จุฬาฯชี้ พื้นที่ก่อสร้างหมั่นเช็ควัสดุ-เครื่องมือ เน้นคน ชุมชนปลอดภัยสูงสุด

สังคม
6 มิ.ย. 56
13:43
165
Logo Thai PBS
อาจารย์วิศวะ จุฬาฯชี้ พื้นที่ก่อสร้างหมั่นเช็ควัสดุ-เครื่องมือ เน้นคน ชุมชนปลอดภัยสูงสุด

นักวิชาการวิศวกรรมโยธา คาดเหตุคานเหล็กตกทับรถยนต์ อาจเพราะเครนรับน้ำหนักวัสดุมากเกินไป แนะคนงานและวิศวกรควรตรวจสอบการเครื่องมือก่อนปฏิบัติงานเสมอ

จากเหตุการณ์โครงเหล็กรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วง บริเวณจุดก่อสร้างแยกเตาปูนหล่นทับรถยนต์ 4 คัน  รถจักรยานยนต์ 1 คัน และอาคารสำนักงานอีก 1 แห่งเสียหาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วัชระ เพียรสุภาพ  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสเว็บไซต์ว่า เหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว สันนิษฐานสาเหตุได้ว่า  อาจเกิดจากเครื่องจักรเสื่อมสภาพ,หรือขาดการตรวจสอบความพร้อมในการใช้งาน หรือเป็นเพราะความประมาทของคนทำงาน เช่น ทำให้เครนรับน้ำหนักมากเกินไป ทั้งนี้ เหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นเหตุ คนงานตกจากที่สูง หรือเครื่องจักรและวัสดุตกลงที่สูง ซึ่งปกติแล้ว ก่อนการก่อสร้าง บริษัท วิศวกร หรือผู้รับเหมา จะต้องศึกษาและวางแผน โดยวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบต่อชุมชน สังคม (เอสไอเอ) เพื่อประเมินความเสี่ยงบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ รวมทั้ง ต้องมีแผนป้องกันอุบัติเหตุ และเหตุต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง

"สิ่งสำคัญต้องมีการตรวจสอบเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ และถ้าต้องก่อสร้างหรือวางคานน้ำหนักมากๆ  ควรวางแผนก่อนการทำงานให้ละเอียดรอบคอบก่อนลงมือ เช่น ทำในช่วงกลางคืน และให้ปิดถนนบางช่องทาง" ผศ.วัชระ กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุดที่เพิ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 แผ่นคอนกรีตขนาด กว้าง 1 เมตร ยาว 3 เมตร หนา 10 เซนติเมตร จำนวน 4 แผ่น หล่นมาบริเวณพื้นถนนถ.กรุงเทพ-นนทบุรี  จุดก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายเตาปูน-บางซื่อ ทำให้คนงานได้รับบาดเจ็บ 1 คน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง