เยี่ยมบ้านศิลปินแห่งชาติ"พิชัย นิรันต์"

ศิลปะ-บันเทิง
7 มิ.ย. 56
15:02
2,133
Logo Thai PBS
เยี่ยมบ้านศิลปินแห่งชาติ"พิชัย นิรันต์"

กว่าครึ่งศตวรรษที่ พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะไว้มากมายที่ล้วนสะท้อนคุณค่าและความหมายในพระพุทธศาสนา ในวัย 77 ปี ก็ยังคงไม่หยุดมือสร้างงานศิลปะที่รัก พร้อมไปกับฝึกหัดและเรียนรู้ดนตรีที่ชื่นชอบ อีกงานอดิเรกที่ส่งผลดีต่อการสร้างงานศิลป์

เพลงคลาสิคเริ่มขึ้นพร้อมกับจับปลายภู่กันสร้างสรรค์ภาพสวย สองสิ่งที่ พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) แทบแยกจากกันไม่ได้ เมื่อเสียงเพลงไม่เพียงช่วยผ่อนคลายความเครียด หากบ่อยครั้งยังสร้างจินตนาการให้กับศิลปิน เกือบ 10 ปีแล้ว ที่ศิลปินแห่งชาติวัย 77 ปี หนีปัญหาน้ำท่วมจากบ้านเก่าที่นครชัยศรี มาใช้บ้านพักที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สร้างงานศิลปะ แม้จะมีชื่อจากการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรม หากอาจารย์พิชัย มองว่า ศิลปินต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ หลายสิบปีมานี้จึงหันไปสร้างสรรค์ผลงานสื่อผสมควบคู่กับจิตรกรรม ที่ล้วนแฝงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ถ่ายทอดแนวคิดและหลักในการใช้ชีวิตตามคำสอน ตั้งใจให้ศิลปะเป็นสื่อทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา

ใครที่ผ่านไปผ่านมาที่บ้านหลังนี้ นอกจากจะได้ยินเสียงเพลงคลาสสิคที่อาจารย์พิชัย นิรันต์ จะเปิดตลอดทั้งวันขณะสร้างสรรค์งานสิลปะ แต่ว่าบางช่วงบางตอน ยังอาจจะได้ยินเสียงดนตรีสด อย่างไวโอลีน รวมถึงเปียโนด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมคลายเครียดของอาจารย์แล้วยังเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยในการสร้างงานศิลปะด้วย

บทเพลงโปรดของศิลปินหญิงชาวจีน เติ้ง ลี่จวิน หนึ่งในบทเพลงที่ พิชัย นิรันต์ มักนำมาบรรเลงด้วยไวโอลีนคู่ใจ เพราะชื่นชอบในดนตรีแทบทุกประเภทและหลงใหลเสียงหวานของไวโอลินตั้งแต่วัยเด็ก อาจารย์พิชัย จึงฝึกฝนและหัดเล่นด้วยตัวเองจนคล่องแคล่ว ก่อนหันมาฝึกเล่นเปียโนเป็นเครื่องดนตรีอีกชิ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ไม่เพียงเป็นความสุขของศิลปินรุ่นใหญ่ หากทุกครั้งที่ได้ขยับนิ้วมือไปตามตัวโน๊ต ยังช่วยคลายกล้ามเนื้อและความอ่อนล้าของนิ้วมือจากการจับภู่กันเป็นเวลานาน ๆ

ไม่อยากให้ศิลปะเป็นเพียงของตกแต่งหรือสิ่งสวยงามประดับบ้าน หากอยากให้ผลงานศิลปะทุกชิ้นมีความหมาย นอกจากถ่ายทอดแนวคิดในพระพุทธศาสนาแล้ว อาจารย์พิชัย นิรันต์ ยังอยากใช้ช่วงเวลาที่เหลือในบั้นปลายต่อจากนี้ เดินทางคัดลอกโบราณสถานเก่าแก่ตามสถานที่ต่างๆ ผ่านภาพสีน้ำมันที่ถนัด เพื่อในอนาคตที่หากสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไม่เหลืออยู่แล้ว ยังคงมีภาพจิตรกรรมให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง