นักวิจัยชี้ปัญหาบริโภคเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ภาคเหนือมากที่สุดเพราะเข้าถึงง่าย

1 ก.ค. 56
14:14
469
Logo Thai PBS
นักวิจัยชี้ปัญหาบริโภคเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ภาคเหนือมากที่สุดเพราะเข้าถึงง่าย

นักวิจัยปัญหาสุราวิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ภาคเหนือติดอันดับบริโภคเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์มากที่สุด เป็นเพราะประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ได้ง่าย โดยส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมดั้งเดิม ที่ยึดถือปฏิบัติมาตั้งเเต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ ของประชากรรายจังหวัดในปี 2554 พบว่า ที่สำนักงานสถิติเเห่งชาติพบว่า ภาคเหนือมีอัตราการบริโภคมากที่สุด โดยมีสัดส่วนการดื่มสูงถึง ร้อยละ 39 เเละเมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเสี่ยงต่อปัญหาเเอลกอฮอล์ ยังพบว่า 10 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ได้เเก่ จังหวัดพะเยา, จังหวัดปราจีนบุรี, จังหวัดเเพร่, จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดเชียงราย, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดลำปาง เเละจังหวัดเเม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะจังหวัดพะเยา ที่มีอัตราการดื่มสูงที่สุดในประเทศติดต่อกันหลายปี

ผศ.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้มีอัตราการดื่มสูง ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ได้ง่าย เห็นได้จากโรงกลั่นสุราชุมชนในจังหวัดพะเยา ที่มีมากถึง 260 โรงงาน

ขณะที่ค่านิยมดั้งเดิมที่เข้าใจว่า งานบุญหรือเทศกาลต่างๆ ต้องมีเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ไว้รับเเขก หรือ เเม้เเต่เเนวคิดที่เข้าใจว่าการดื่มสุรา ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยบางอย่างได้ ยังคงเป็นค่านิยมที่ยึดถือมาตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เว้นเเม้กระทั่ง งานศพ โดยเจ้าภาพจะต้องคอยจัดหามาเลี้ยงผู้ร่วมงาน หลังการสวดอภิธรรมศพทุกครั้ง จนเกิดการตั้งคำถามว่า ค่านิยมเช่นนี้ เหมาะสม เเละมีความจำเป็นหรือไม่

โครงการงดเหล้าในงานศพ เป็นความร่วมมือของชาวตำบลบ้านเหล่า ในอำเภอเเม่ใจ จังหวัดพะเยา เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนตั้งเเต่ปี 2551 หลังการทำประชาคมหมู่บ้านในปีนั้น มีการสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ในงานศพ ที่ไม่มีความจำเป็น เเละอาจเป็นการไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิตเเละญาติ

การแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจังหวัดพะเยา จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมถึงการรณรงค์ และการใช้มาตรการทางสังคม เพื่อทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง