เชื่อมต่อเรื่องราวในอดีต ผ่านงานโบราณคดีใต้น้ำ

Logo Thai PBS
เชื่อมต่อเรื่องราวในอดีต ผ่านงานโบราณคดีใต้น้ำ

งานโบราณคดีใต้น้ำของไทย พัฒนามาเกือบ 40 ปี ทำหน้าที่สงวนรักษามรดกวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันช่วยเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของภูมิภาค

มีหน้าที่รักษามรดกวัฒนธรรมเหมือนกับนักโบราณคดีทั่วไป แต่ต้องเชี่ยวชาญในการทำงานใต้น้ำที่มีความเสี่ยงสูง วันนี้กลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำลงสำรวจแหล่งเรือจมรางเกวียน เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลหลักฐานสะท้อนภาพประวัติศาสตร์การเดินเรือในภูมิภาคจากอ่าวไทยถึงมลายู ที่ทิ้งร่อยรอยไว้กับโบราณวัตถุใต้ทะเลลึกกว่า 20 เมตรในสัตหีบ จ.ชลบุรี 

งานใต้น้ำท้าท้ายการหาความรู้จากวัตถุโบราณชิ้นใหม่ที่ค้นพบ ทำให้กว่า 6 ปี ที่พรนัชชา สังข์ประสิทธิ์ ร่วมทีมในฐานะนักโบราณคดีใต้น้ำหญิงเพียงคนเดียว สนุกกับการเชื่อมต่อเรื่องราวในอดีต อย่างซากงาช้างและปากไหดินเผาที่เก็บตัวอย่างได้ ให้ภาพค้าขายยุคสำเภาโบราณในประวัติศาสตร์อยุธยา ที่มีงาช้างและเครื่องปั้นดินเผาเตาแม่น้ำน้อยและเตาเผาสุพรรณบุรีเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ แหล่งเรือจมที่สำรวจพบกว่า 50 แห่งของไทย ทยอยเปิดพื้นที่ขุดค้นระหว่าง 40 ปี ที่จัดตั้งกลุ่มโบราณคดีใต้น้ำ เพื่อรักษามรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่า

การทำงานโบราณคดีใต้น้ำ วิถีชาวเรือ และหลักฐานแสดงเส้นทางค้าทางทะเล ถ่ายทอดเป็นความรู้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี ให้เห็นสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแหล่งน้ำ

ที่ผ่านมากลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำ นำอบรมความรู้แก่ประเทศในภูมิภาค เป็นศูนย์ฝึกโบราณคดีใต้น้ำเอเชีย-แปซิฟิค องค์การยูเนสโก ที่ยังเตรียมจับมือกับมาเลเซีย ร่วมสำรวจกัวลาตรังกานู อดีตเมืองท่าค้าขายกับจีน รวมถึงค้นหาแหล่งโบราณคดีเขื่อนน้ำงึมกับลาว เปิดสัมพันธ์ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ร่วมกัน 

ปัจจุบันกลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำ เตรียมขยายอาคาร สร้างสระฝึกปฏิบัติการดำน้ำสำหรับฝึกอบรมบุคลากร สร้างเสร็จจะมีความลึก 12 เมตร จากเดิมที่เคยเช่าสระเอกชนฝึกลึกเพียง 3 เมตรเท่านั้น โดยออกแบบให้สามารถฝึกดำได้หลายสถานการณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า

สระมาตรฐานสำหรับฝึกปฏิบัติการ จะเป็นอีกเครื่องมือสนับสนุนการทำงานในอนาคต โดยทั้งความพร้อมของอุปกรณ์และกำลังคนในงานสงวนรักษาแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ เป็นหัวใจของการพิทักษ์มรดกวัฒนธรรมชาติด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง