"สุขภาพ" ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการสารตะกั่ว

Logo Thai PBS
"สุขภาพ" ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จ.กาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการสารตะกั่ว

ปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี กลายเป็นผลกระทบระยะยาวที่ได้รับจากสารตะกั่ว โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่มีปัญหาต่อพัฒนาการทางสมอง สิ่งที่เกิดขึ้นยืนยันถึงพิษภัยจากสารตะกั่วได้อย่างชัดเจนที่สุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้องค์การอนามัยโลกรณรงค์สัปดาห์ป้องกันภัยพิษจากสารตะกั่วภายในสัปดาห์นี้

ในอดีตลำห้วยคลิตี้ ถือเป็นแหล่งน้ำสายหลักที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ แต่หลังจากเหตุการณ์โรงแต่งแร่ตะกั่ว ปล่อยน้ำเสียเจือปนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยเมื่อปี 2541 ลำน้ำแห่งนี้จึงกลายเป็นจุดเสี่ยงของชุมชน

 
เด็กชายชาวกระเหรี่ยงวัย 11 ปี คนหนึ่งในชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ที่ได้รับพิษสารตะกั่วสะสมในร่างกาย ความผิดปกติที่เห็นได้ชัด คือ พัฒนาการทางสมองที่ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน
 
ไต่กวย นาสวนกนก ผู้เป็นแม่ เล่าว่า ลูกชายเคยสำลักน้ำในลำห้วยคลิตี้ตอนอายุ 3 ขวบ จนหมดสติ ตั้งแต่นั้นมาเริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ ปวดหัว เป็นลมบ่อย เมื่ออายุได้ 6 ขวบ จึงไปหาหมอ ตรวจเลือดก็พบค่าตะกั่วในเลือดสูงกว่า 70 มล.ก./เดซิลิตร แต่ด้วยฐานะยากจนทำให้ไม่ได้พาลูกชายไปรักษา จึงได้แต่หวังว่าสักวันอาการจะดีขึ้น
 
พิษจากสารตะกั่วยังส่งผลให้ วาสนา นาสวนบริสุทธิ์ วัย 50 ปี ต้องสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรมากว่า 10 ปี จากการแพ้สารตะกั่วอย่างรุนแรง เธอบอกว่า ในอดีตใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้เป็นประจำ จนเริ่มมีอาการคัน เป็นผื่นแดง รักษาไม่หาย ที่สำคัญคือปวดหัว และสายตาพร่าลงเรื่อยๆ

    

 
ปัจจุบันน้ำประปาหมู่บ้านช่วยให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงการปนเปื้อนสารตะกั่ว ส่วนมาตรการเยียวยาจากภาครัฐคือการชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ 22 คน คนละ 177,199.55 บาท ของกรมควบคุมมลพิษ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบฯ ปี 2556 กว่า 11 ล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม
 
อันตรายจากสารตะกั่ว ทำให้หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้มีการใช้สารชนิดนี้ให้น้อยที่สุด แต่ดูเหมือนจะสวนทางกับข้อเท็จจริง เพราะล่าสุด มูลนิธิบูรณนิเวศ ตรวจสอบสีทาบ้าน 68 ยี่ห้อ พบถึงร้อยละ 79 มีสารตะกั่วสูงเกินกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)  ที่กำหนดให้มีสารตะกั่วได้ไม่เกิน 100 พีพีเอ็ม
 
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ยอมรับว่า สีทาภายในอาคารตามโรงเรียน สีทาเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เป็นจุดเสี่ยงที่เด็กจะได้รับสารตะกั่วจากสีที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพ และพัฒนาการทางสมองโดยตรง
 
แม้จะมีข้อเรียกร้องให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานปริมาณสารตะกั่วในสีทาอาคารใหม่ ซึ่งสมาคมผู้ผลิตสีไทย ยืนยันพร้อมสนับสนุนการออกข้อบังคับใหม่ แต่ยอมรับว่า การใช้สารทดแทนอาจทำให้ประชาชนต้องซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมลงบนฉลาก โดยจะบอกปริมาณสารตะกั่วที่อยู่ในสีแต่ละกระป๋อง เพื่อประกอบการตัดสินใจให้กับผู้บริโภค
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง