เงินเฟ้อ พ.ย. ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 4

เศรษฐกิจ
3 ธ.ค. 56
01:52
76
Logo Thai PBS
เงินเฟ้อ พ.ย. ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 4

4 เดือนติดต่อกันแล้วที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง โดยกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวร้อยละ 1.92 และทั้ง 11 เดือนที่ผ่านมา เติบโตร้อยละ 2.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ แรงกดดันจากเงินเฟ้อมีน้อย เนื่องจากราคาน้ำมันไม่สูงมาก และการส่งออกที่ไม่ค่อยดี ภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวบ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรยากาศการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ และเมื่อวานนี้ ภาคธุรกิจ 7 สถาบันได้ออกมาสะท้อนปัญหาการเมืองที่กระทบธุรกิจ พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้ง และความรุนแรง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ

ภาคธุรกิจ 7 สถาบันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้ง และความรุนแรง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ โดยเนื้อหาหลักๆ ของแถลงการณ์นี้ เอกชนพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยเสนอให้ใช้วิธีการเจรจา ส่วนการแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิ์ชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง และในการเลือกตั้งใหม่ ทุกฝ่ายควรหาข้อยุติเบื้องต้นก่อน

ตัวแทนภาคเอกชนจาก 7 สถาบัน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ได้หารือ และออกแถลงการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้พูดถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นทางธุรกิจ รวมถึงความสูญเสียด้านสังคม

อัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวค่อนข้างต่ำในปีนี้ น.ส.อุรวี เงารุ่งเรือง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นเพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง และสินค้าคงเหลือในประเทศมีมาก เพราะกำลังซื้อทั่วโลกชะลอตัว จากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยน้อยลง

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า เงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 105.86 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.92 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของหมวดอาหาร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิง และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 ขณะที่การสำรวจราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ 450 รายการ พบว่าสินค้าปรับราคาเพิ่มขึ้น 194 รายการ ลดลง 87 รายการ และไม่เปลี่ยนแปลง 169 รายการ

สำหรับการขนส่ง และกระจายสินค้าของภาคธุรกิจในช่วงนี้ นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล กล่าวว่า ร้านค้าปลีกที่รับสินค้าไปจำหน่าย ไม่สามารถระบายสินค้าได้มากนัก และยังมีสินค้าในสต็อกค่อนข้างมาก จากผลกระทบทางการเมือง

ส่วนสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยยังไม่มีรายงานผลกระทบจากสมาชิก แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อออกไปถึง 1 สัปดาห์ คาดว่าการขนส่ง และกระจายสินค้าในเขตกรุงเทพฯ จะเริ่มได้รับผลกระทบ

สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ส ประจำประเทศไทย ได้เกาะติดสถานการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด โดยรายงานว่า ภาพรวมยังคงมีความรุนแรง และหลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี ต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง