"นักเศรษฐศาสตร์" แนะทุกฝ่ายลงเลือกตั้ง-หวั่นเหตุขัดแย้งนำไปสู่สงครามกลางเมือง

การเมือง
10 ธ.ค. 56
12:39
60
Logo Thai PBS
"นักเศรษฐศาสตร์" แนะทุกฝ่ายลงเลือกตั้ง-หวั่นเหตุขัดแย้งนำไปสู่สงครามกลางเมือง

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ แนะทุกฝ่ายใช้กระบวนการทางการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสิน ก่อนเหตุขัดแย้งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองจนกระทบเศรษฐกิจและการลงทุน

วันนี้ (10 ธ.ค.56 ) ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส โดยระบุว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้กระบวนการเลือกตั้งในการหาทางออก เนื่องจากเป็นกระบวนการที่มีอยู่และกำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งแนวทางอื่น ๆ ในการปฏิรูปนั้นแต่ละฝ่ายสามารถเสนอให้ประชาชนพิจารณาในการหารเสียงเลือกตั้งได้ ซึ่งขณะนี้ ศ.ผาสุก มองว่า แนวทางการจัดสภาประชาชนยังไม่มีกฎหมายรองรับและการแต่งตั้งโดย กลุ่ม กปปส.ก็ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากอาจมีกลุ่มคนอื่น ๆ ที่ไม่พอใจและอาจจะเกิดการประท้วง หรือบานปลายจนเกิดสงครามกลางเมืองก็เป็นได้

 
รวมถึงยังมองว่า การใช้กระบวนการพิเศษในการกำจัด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกไปนั้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2549 ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถทำได้ และกลับยิ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นวีรบุรุษแทน และหากกระบวนการเหล่านี้ได้กลายเป็นบรรทัดฐาน ด้วยการนำมวลชนออกมาแล้วเปลี่ยนกฎไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและนำมวลชนออกมาเช่นกัน และนำไปสู่ความวุ่นวายไม่สิ้นสุด และอาจนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองย่อย ๆ และเศรษฐกิจจะชะงัก นักลงทุนจะชะลอการลงทุน ซึ่งรัฐบาลก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ และสิ่งที่มวลมหาประชาชนต้องการก็ต้องมีคำถามว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร
 
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยึดหลักหลักนิติธรรมและหลักกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น และต้องให้ผู้ที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินซึ่งอาจจะต้องใช้เวลายาวนานแต่ก็เป็นกระบวนการที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งหลายประเทศก็ผ่านกระบวนการเช่นนี้มาแล้ว ด้วยการทำตามกฎ กติกาที่ได้กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่าง ๆ จึงจะนำไปสู่การปฏิรูปได้
<"">
  
<"">
ศ.ผาสุก ยังกล่าวว่า หากเทียบเคียงกับในอดีตเมื่อเกิดเหตุรุนแรง เช่นการปฏิวัติ หรือ การให้ พระมหากษัตริย์เข้าแทรกแซงซึ่งเป็นยุคเผด็จการทหาร แต่เมื่อในขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เผด็จการทหารและรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดแนวทางไว้แล้ว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.จะต้องตกลงและพูดคุยกัน ซึ่งการที่คุณสุเทพปฏิเสธการพูดคุยไม่ใช้ข้อเสนอที่สร้างสรรค์
 
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมองว่า การที่คุณสุเทพ ยังไม่ยุติการชุมนุม เพราะยังเชื่อว่าเป็นการหาเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์อยู่หรือไม่ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งกระบวนการแบบพิเศษเช่นนี้ จะเป็นผลเสียกับขบวนการเองก็เป็นได้ ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องลงจากการนำมวลชนและพรรคประชาธิปัตย์ควรที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง และมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน แต่ยังคงมีความสงสัยว่า เหตุใด คุณสุเทพยังต้องการที่จะใช้กระบวนการพิเศษอยู่ตลอดเวลา
 
ศ.ผาสุก  ยังมองว่า การกระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งต้องใช้เวลาและสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ในการปรับปรุงตนเอง เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายภายในพรรคการเมืองมากพอ ประชาชนจึงต้องออกมาชุมนุมในท้องถนน
 
นอกจากนี้  ศ.ผาสุก ยังมองว่า การที่ประชาชนบางส่วนมองว่าไม่มีความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการทุจริตและการซื้อเสียงนั้น ซึ่งการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า การใช้เงินยังคงมีอยู่แต่ไม่ใช่ตัวตัดสินแล้วว่า ใครจะเป็นผู้ได้เสียงข้างมาก และความเชื่อว่าเงินเป็นปัจจัยกำหนดในการแพ้-ชนะเลือกตั้งนั้นคิดว่าไม่ใช้ไม่ได้แล้ว ซึ่งจากนี้ไปพรรคการเมืองทุกพรรคควรที่จะเข้ามาแข่งขันกันตามกระบวนการทางกฎหมาย 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง