1 ปี รัฐประหาร : เมื่อพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

21 พ.ค. 58
19:10
398
Logo Thai PBS
1 ปี รัฐประหาร : เมื่อพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร

หลังการยึดอำนาจของ คสช. เมื่อ 22 พ.ค.2557 ภายใต้สภาวะฝุ่นตลบทางการเมือง ในนามของความมั่นคงและความสงบเงียบที่ต้องการให้เกิดขึ้น การเรียกให้บุคคลมารายงานตัวและปรับทัศนคติอาจเป็นเพียงสัญญาณเตือนถึงเสรีภาพที่ถูกจำกัดในช่วงหลังรัฐประหาร แต่สิ่งที่เป็น "ยาแรง" ก็คือ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37, 38 และ 50 ที่กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีที่พลเรือนที่กระทำความผิดตามที่ระบุในประกาศ คสช. ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามี "พลเรือน" จำนวนไม่น้อยที่ต้องขึ้น "ศาลทหาร" ในวาระครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร "ไทยพีบีเอสออนไลน์" พาไปฟังความจริงจากพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหาร ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และคำชี้แจงจากกรมพระธรรมนูญ

ประเดิมพลเรือนขึ้นศาลทหาร ต้านรัฐประหารชู 3 นิ้ว
9 มิ.ย.2557 อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ นักกิจกรรมอิสระ เป็นคนแรกๆ ที่ถูกนำตัวขึ้นศาลทหารภายหลังรัฐประหาร เขาถูกควบคุมตัวจากบ้านพักที่สมุทรปราการไปยังกองพลที่ 2 รักษาพระองค์ เพื่อสอบสวนในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง จากเหตุการณ์ที่ออกมาทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านราชประสงค์ และชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์ของการต้านรัฐประหารที่ห้างเทอร์มินอล 21 อนุรักษ์เล่าว่าเขาถูกทหารนำตัวขึ้นรถเบนซ์ มีทหารนั่งประกบซ้ายขวา เมื่อเข้าไปในรถ ทหารนำถุงมาคลุมศีรษะและนำสายรัดมามัดข้อมือไว้ ปฏิบัติการเป็นไปด้วยท่าทีที่สุภาพ เขาถูกนำตัวมาสอบสวนโดยทหาร 4-5 คน ตามอำนาจภายใต้กฎอัยการศึก ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วันทหารกว่า 20 นาย ได้เข้าไปพบตัวเขาที่บ้านพัก 2 ครั้ง ในเวลาเช้ามืดและมีการเข้าสืบข้อมูลในเฟซบุ๊กของเขา

 
<"">

                                          ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ

ภายหลังเสร็จสิ้นการสอบสวน อนุรักษ์ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่กองปราบปรามฯ ร่วมกับผู้ที่ถูกจับมา 7-8 คน เป็นเวลา 5 คืน และนำตัวขึ้นฟ้องที่ศาลทหาร  อนุรักษ์เลือกรับสารภาพด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้มีเสรีภาพออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไป โดยคดีสิ้นสุดที่การตัดสินจำคุก 6 เดือน รับสารภาพ ลดโทษเหลือ 3 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท

"สำหรับนักกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การสู้คดีใช้เวลานานอาจจะเป็น 1 ปี 2 ปี ซึ่งระหว่างคดียังไม่สิ้นสุดศาลจะมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหว..." อนุรักษ์บอกเหตุผลที่เลือกรับสารภาพ

ปัจจุบันอนุรักษ์เป็นตัวกลางในการระดมทุนช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีการเมือง รวมทั้งผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือที่เรียกกันว่า "คดีมาตรา 112" ของกฎหมายอาญา เขายังคงยืนยันที่เคลื่อนไหวในทางสันติ  และบอกว่าไม่เคยเสียใจที่ออกมาแสดงเจตจำนงค์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ "ผมไม่คิดว่าประชาธิปไตยในประเทศนี้จะได้มาง่ายๆ เพียงแค่ชุมนุม 1 ครั้ง 2 ครั้ง หรือแค่เลือกตั้ง..." อนุรักษ์ทิ้งท้าย

คดี "การเมือง" : คสช.ออกกฎหมาย ทหารสืบสวน และตัดสิน
"ถ้าเป็นคดีทั่วๆ ไป ทหารก็ไม่มีส่วนได้เสีย ก็จะไม่มีการตั้งคำถามถึงความไม่อิสระ แต่ด้วยความที่ประเภทคดีที่ประกาศให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ทุกคดีเป็นคดีที่ทหารมีส่วนได้เสีย  เช่น คดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม การไม่รายงานตัวต่อ คสช.  ซึ่งถ้าเป็นภาวะปกติพลเรือนเหล่านี้จะไม่มีความผิดอะไรเลย" ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บอกกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ถึงหลักความเป็นอิสระและการให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยในกระบวนการศาลทหาร โครงสร้างที่ถูกเขียนขึ้นเดิมนั้น ศาลทหารมีขึ้นเพื่อลงโทษทหารที่กระทำความผิด อัตราโทษและขั้นตอนการสืบสวนนั้นต่างจากศาลยุติธรรม ไม่มีกระบวนการสืบเสาะข้อมูลเพื่อประกอบการทำคำพิพากษาว่าจะลงโทษมากน้อยแค่ไหน

<"">

                                         ภาวิณี ชุมศรี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ที่สำคัญก็คือ ในช่วงที่ยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น ศาลทหารไม่เปิดให้มีการอุทธรณ์และฎีกา นอกจากนี้ยังไม่มีระบบแต่งตั้งทนายให้กับจำเลยหรือที่เรียกว่าทนายขอแรง เนื่องจากระบบศาลทหารปกติจะใช้นายทหารพระธรรมนูญมาเป็นทนาย แต่เมื่อจำเลยเป็นพลเรือน นายทหารไม่มีใบอนุญาตว่าความ ระบบการประสานงานกับสภาทนายความเพื่อหาทนายให้จำเลยก็ไม่มี ภาวิณีกล่าว
 
พลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ได้บังคับใช้เฉพาะผู้ฝ่าฝืนรายงานตัว คสช. เช่น กรณีของจิตรา คชเดช คดีผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ออกมาต้านรัฐประหาร หรือคดีข้อหายุยงปลุกปั่นในกรณีของสมบัติ บุญงามอนงค์ แต่ประกาศคำสั่งกินความกว้าง รวมถึงคดีความมั่นคง คือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้อหาด้านอาวุธ ซึ่งหมายความว่าบุคคลที่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีสิทธิถูกดำเนินคดีในศาลทหารด้วย ศูนย์ทนายความฯ รวบรวมจำนวนคดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารภายหลังการยึดอำนาจว่ามีกว่า 100 คดี เฉพาะในเขตศาลทหารกรุงเทพ แต่ถ้ารวมทั่วประเทศคาดว่ามีมากกว่า 300 คดี ส่วนมากเป็นคดีมาตรา 112 และคดีอาวุธ

ภาวิณีให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตอนที่ยังมีการใช้กฎอัยการศึก ทหารมีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ 7 วัน ทหารจะเป็นผู้บันทึกคำซักถามรายละเอียดพฤติการณ์ความผิด คำรับสารภาพ แล้วจึงส่งต่อให้ตำรวจทำสำนวน นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยจากผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงว่ามีการบังคับให้รับสารภาพ

"มีจำเลยที่ถูกดำเนินคดีหลายคน รวมทั้งผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับอาวุธ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  เช่น คดีเครือข่ายบรรพต และคดีระเบิดศาลอาญา 19 คน ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมาน มีการบังคับให้รับสารภาพตามกฎอัยการศึก ขั้นตอนตรงนี้ได้ตัดตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวนตามปกติ"

แม้จะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกไปเมื่อ 1 เม.ย. 2558 และนำมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาบังคับใช้ แต่คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ออกมาภายหลังก็ยังคงอำนาจให้ทหารสามารถควบคุมตัวได้ 7 วันเหมือนเดิม นั่นคือ ทหารสามารถจับกุม สืบสวน ดำเนินคดี ฟ้อง และตัดสินได้เช่นเดียวกับขณะที่กฎอัยการศึกมีผลบังคับใช้

เปิดทางจัดการคดี ม.112 การจำต้องรับสารภาพ และความยุติธรรมที่มาถึงช้า
ภาวิณีกล่าวถึงการดำเนินคดี ม.112 ที่มีการตัดสินเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่อยู่ในศาลพลเรือน และโทษของคดี 112 เมื่ออยู่ในศาลทหารอัตราโทษสูงเป็น 2 เท่า ของศาลยุติธรรม และมักไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งเมื่อประกอบกับกระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้า จึงเป็นเหตุผลที่จำเลยเลือกที่จะไม่สู้คดี

<"">

                                            ห้องพิจารณาคดี ศาลทหารกรุงเทพ

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ผู้ต้องหาพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารส่วนใหญ่จะรับสารภาพ เนื่องจากเป็นคดีการเมืองที่หากสู้คดีจะมีความยืดเยื้อและโทษหนักกว่าการรับสารภาพ  ระบบของศาลทหารที่ไม่เคยต้องพิจารณาคดีพลเรือนจำนวนมาก ความพร้อมในการพิจารณาคดี สถานที่ บุคลากร ระบบส่งต่อผู้ต้องหากับเรือนจำนั้นก็มีความติดขัด ซึ่งนั่นทำให้จำเลยเสียประโยชน์จากการพิจารณาคดีที่ล่าช้า

"การสืบพยานทำเพียงครึ่งวัน สืบได้วันละ 1 ปาก และใช้วิธีการจดมือ ศาลถาม พยานตอบ เขียนเป็นลายมือ ตัวอย่างเช่นคดีของบก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์) ศาลทหารสืบพยาน 1 ปาก สืบกัน 3 นัด ขณะที่ศาลยุติธรรมเป็นระบบต่อเนื่อง แต่ว่าสืบต่อเนื่องจบ แต่ของศาลทหารไม่มีจุดจบเลย นานมากไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่" ภาวิณีเล่าประสบการณ์จากศาลทหาร
 
ผ่านไปเกือบ 1 ปี ของการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร สถานการณ์ที่พลเรือนถูกจับจากการชุมนุมลดน้อยลง มีเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่เป็นคดีล่าสุด แต่กระแสการเรียกร้องจากภาคสังคมและองค์กรระหว่างประเทศที่ขอให้ดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลยุติธรรมปกติได้ดังมากขึ้น ภาวิณีระบุว่าสิ่งที่เรียกร้องนั้นเป็นการเรียกร้องเพื่อสัญลักษณ์เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติต่อพลเรือนเป็นไปตามหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชน

"ข้อเรียกร้องทีเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้คือ ขอให้พลเรือนขึ้นศาลพลเรือน เพราะนี่เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม" ภาวิณีกล่าว

กรมพระธรรมนูญแจง "ปฏิบัติกับทหารอย่างไร ต้องปฏิบัติกับพลเรือนอย่างนั้น"
พ.อ.ธานินทร์ ทุนทุสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า การควบคุมตัวพลเรือนภายใต้กฎอัยการศึกที่ให้อำนาจคุมตัวไว้ 7 วัน ยืนยันเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเท่าที่เหตุจำเป็น  และการคุมขังพลเรือนระหว่างการพิจารณาของศาล ถ้ามีความจำเป็นต้องคุมตัวจำเลยให้ส่งไปยังเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ถูกนำมาควบคุมตัวในเรือนจำของทหารแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการจัดการผู้ต้องหา สภาพความเป็นอยู่ระหว่างถูกคุมขังเข้าใจว่าไม่แตกต่างไปจากจำเลยที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน  ส่วนสิทธิในการร้องขอทนายความศาลทหารในเวลาไม่ปกติ จำเลยมีสิทธิแต่งทนายเหมือนกัน รวมไปถึงการกำหนดอัตราโทษที่ยึดถือตามมาตรฐานที่ตัดสินกับทหารที่ทำความผิด

"เรื่องอัตราโทษ ศาลทหารปฏิบัติกับทหารอย่างไรก็ต้องปฏิบัติกับพลเรือนอย่างนั้น จะให้ศาลทหารปฏิบัติกับพลเรือนอย่างหนึ่งและทหารอย่างหนึ่งด้วยมาตรฐาน 2 อย่างทำไม่ได้ นี่เป็นการรักษามาตรฐานของศาลทหาร..."

<"">

                          พ.อ.ธานินทร์ ทุนทุสวัสดิ์ ผอ.กองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ
ส่วนประเด็นการเรียกร้องให้ยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารนั้น ผอ.กองนิติธรรมทหาร ระบุว่าบุคลากรของศาลทหารต้องทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย "ไม่สามารถปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ คำถามนี้น่าจะถามหัวหน้า คสช. เป็นเหตุผลของฝ่ายความมั่นคง" พ.อ.ธานินทร์ ระบุ

ขณะที่ประสิทธิภาพในการดำเนินการของศาลทหารในภาวะที่พลเรือนถูกนำขึ้นศาลทหารเป็นจำนวนมาก พ.อ.ธานินทร์ ยอมรับว่าคดีที่เข้ามาสู่อำนาจศาลทหารมีจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าตัว บุคลากรของศาลทหารมีไม่ถึง 100 คน แต่ว่าก็พยายามดำเนินการให้เร็วขึ้น

กลุ่มพลเมืองโต้กลับ :  "ต้องสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออก"
14 ก.พ.2558 กว่า 7 เดือนหลังการรัฐประหาร ที่ดูเหมือนว่ากระแสต้าน คสช.จะดูเงียบเชียบ หมดพลังไปแล้ว กิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ถูกจุดพลุขึ้นในฐานะสัญลักษณ์ของฝ่ายพลเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตย นำโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดกิจกรรมรำลึกถึงการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 กิจกรรมนี้ทำให้แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง

วรรณเกียรติ ชูสุววรณ อาชีพขับแท็กซี่ หนึ่งในแกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ถูกควบคุมตัวระหว่างทำกิจกรรมในวันนั้น เขายอมรับว่าตั้งแต่ถูกดำเนินคดีที่ต้องขึ้นกับศาลทหาร เขาไม่แน่ใจว่าจะยังมีเสรีภาพอยู่ในโลกภายนอกได้นานแค่ไหน และยังยืนยันที่จะเคลื่อนไหวด้วยวิธีการสันติและสร้างสรรค์ดังเช่นกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" หรือ "พลเมืองรุกเดิน" เพราะเป็นหนทางเดียวที่วรรณเกียรติเรียกว่าเป็นการ "ลงทุนเพื่อการสร้างประชาธิปไตย" ที่สังคมไทยมีต้นทุนน้อยมาก

"สำหรับนักกิจกรรมอย่างพวกผม พื้นที่ที่เราแสดงออกมันมีความเสี่ยงสูง บางทีเราจัดกิจกรรมทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเราอาจจะโดนจับ แต่เราคิดว่ามันต้องทำ ต้องทำให้เกิดความเห็น ให้เกิดข้อมูลข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่เพียงรับรู้ข้อมูลแต่ด้านเดียว เราแค่อยากพูดในมุมอีกมุมหนึ่ง แม้อาจไม่ใช่คนจำนวนมาก" วรรณเกียรติระบุเหตุผลของการเคลื่อนไหวที่แม้ว่าผลที่ตามมาเขาจะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตามข้อหาที่ตั้งขึ้นโดย คสช.

วรรณเกียรติบอกว่า เสรีภาพที่สูญเสียไปหลังรัฐประหารมีผลสะเทือนต่อนักเคลื่อนไหวที่ทำกิจกรรมสันติวิธี หลายคนถูกเรียกรายงานตัวไปอยู่ในค่ายทหาร ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ประกอบกับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจะถูกจับและไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าเมื่อเคลื่อนไหวแล้ว เสรีภาพจะถูกพรากด้วยความพยายามทำให้เกิดความเงียบ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ช่วงหลังการชักชวนเครือข่ายมาร่วมทำกิจกรรมลดน้อยลง

<"">

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง