คชอ.เผยไม่พบหักเงินค่าหัวคิวช่วยน้ำท่วม

สังคม
11 พ.ย. 53
06:02
35
Logo Thai PBS
คชอ.เผยไม่พบหักเงินค่าหัวคิวช่วยน้ำท่วม

ส.ส.ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ภาครัฐจ่ายเงินค่าชดเชยเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วมนาข้าวเพิ่มขึ้นให้เท่าเทียมกับเงินช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางพารา ขณะที่ คชอ.ตรวจสอบการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย ยังไม่พบการหักเงินค่าหัวคิวตามที่มีกระแสข่าว
คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เปิดโครงการ "ฟื้นไทยด้วยใจ ไทยทั้งชาติ" เพื่อร่วมกันฟื้นฟูเยียวยาพื้นที่ประสบอุทกภัย หลังน้ำลด โดยเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วน มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการซ่อมแซมถนน บ้านเรือน และยานพาหนะ โดยในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย.) จะมีการลงพื้นที่ จังหวัดนครสรรค์ เป็นแห่งแรก

สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัย 630,000 กว่าครัวเรือนนั้น จะมีการเร่งรัดการจ่ายเงินเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาทให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะเดียวกันทางคชอ.ได้มีการตรวจสอบข้อมูลของการหักเงินหัวคิวช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเบื้องต้นยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดขึ้นที่พื้นที่ใด

ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีพิธีเปิดการเดินเครื่องสูบน้ำ ที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท ตำบลบ้านม้า อำเภอบางไทร ซึ่งเป็นการสูบน้ำออกจากทุ่งป่าโมก-ผักไห่ ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยภาพรวมจากเครื่องสูบน้ำทั้งหมด จะระบายได้ 7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า จะเร่งระบายน้ำที่ขังอยู่ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนนี้ หรืออย่างช้าก่อนวันที่ 5 ธ.ค. เพื่อให้ช่วงปลายปี ชาวนาสามารถกลับมาประกอบอาชีพการเกษตรได้ทัน

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงหลักเกณฑ์การชดเชยความเสียหาย ทางรัฐบาลได้ดูแลทุกกลุ่มเท่าเทียมกัน ไม่ได้เป็นเรื่อง 2 มาตรฐาน ขณะที่การจ่ายเงินทดแทนความเสียหายในส่วนของสวนยางพาราเป็นการช่วยเหลือของรัฐบาลจำนวน 17,000 บาทนั้น แบ่งเป็นเงินภาครัฐ ไร่ละ 6,000 บาท ส่วนเงินจำนวน 11,000 บาท เป็นเงินที่ได้จากกองทุนสวนยาง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยยอมรับว่า การพิจารณาหลักเกณฑ์รายละเอียดการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเรื่องยาก เพราะระยะเวลาการเพาะปลูกและปศุสัตว์แตกต่างกัน เช่นเดียวกับรายละเอียดค่าชดเชยสวนยางพารา ส่วนการประมงใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการชดเชยช่วงเหตุการณ์สึนามิ โดยขณะนี้ได้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปหาแนวทางอีกครั้ง

ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วมนาข้าวเพิ่มขึ้นจาก 2,098 บาท เนื่องจากเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกยางพารา ที่รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยไร่ละ 17,000 บาท


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง