"เขื่อนดอนสะโฮง" จุดชนวนความขัดแย้งในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

7 มี.ค. 59
15:11
5,095
Logo Thai PBS
"เขื่อนดอนสะโฮง" จุดชนวนความขัดแย้งในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 260 เมกะวัตต์ของรัฐบาลลาวที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงช่วงแขวงจำปาสัก กำลังทำให้ประชาชนที่พึ่งพิงลำน้ำโขงและนักอนุรักษ์ในไทย กัมพูชา และเวียดนามร่วมกันคัดค้าน เนื่องจากหวั่นวิตกถึงผลกระทบของเขื่อนต่อภูมิภาคอันอุดมสมบูรณ์

ปี 2556 รัฐบาลลาวยืนยันความจำเป็นในการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชาและเวียดนาม ส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดริมแม่น้ำโขงของไทยบางส่วนแสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ขณะที่ฝั่งกัมพูชาก็มีการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนส่งถึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อกดดันให้มีการทบทวนโครงการนี้

หลังจากแจ้ง MRC แล้ว รัฐบาลลาวได้จัดทำ "การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง" (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) ของโครงการเขื่อนดอนสะโองตามข้อกำหนดความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งปลายเดือนกรกฎาคม 2557 ถึงเดือนมกราคม 2558

เขื่อนดอนสะโฮงเป็นเขื่อนแห่งที่ 2 ในแม่น้ำโขงตอนล่าง หลังจากรัฐบาลลาว ได้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในแขวงไซยะบุรี ที่ได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 70 เขื่อนดอนสะโองเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 260 เมกะวัตต์ ความสูง 25 เมตร ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศและส่งออกไปขายให้ประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ดำเนินโครงการโดยรัฐบาลลาวและบริษัท Mega First Corporation Berhad (MFCB) จากประเทศมาเลเซีย

แผนที่แสดงจุดสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงของประเทศลาว

แผนที่แสดงจุดสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงของประเทศลาว

แผนที่แสดงจุดสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงของประเทศลาว

 

ก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักเลขาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทยได้จัดเวที PNPCA ทั้งหมด 6 ครั้ง ที่ จ.อุบลราชธานี นครพนม เชียงราย หนองคาย เลย และกรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นที่สโมสรทหารบก ในส่วนของเวทีที่กรุงเทพฯ ตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปแสดงความคิดเห็น จึงมองว่าเป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ขณะที่ในเวทีอื่นๆ ทุกเวที ภาคประชาชนได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงและเขื่อนอื่นๆ ในแม่น้ำโขง เพราะหวั่นผลกระทบข้ามพรมแดน และเสนอให้ศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเพิ่มเติม

แม้กระบวนการ PNPCA จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากยังมีการทักท้วงจากประเทศสมาชิก และยังไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างจริงจัง แต่ปรากฏว่าปัจจุบันได้มีการเริ่มก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงแล้ว

วันที่ 25 ก.พ.2559 ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปจุดก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าฮูสะดำและฮูสะโฮง แขวงจำปาสัก ประเทศลาว พบว่าบริเวณปากฮูสะโฮงได้มีการถมดินปิดกั้นช่องทางน้ำและเริ่มมีการก่อสร้างเขื่อนแล้ว พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของชุมชนดอนสะดำที่มีชาวประมงพื้นบ้านอาศัยอยู่จำนวนมาก และยังคงพบเห็นการหาปลาของชาวบ้านตามวิถีชีวิตดั้งเดิม

จุดก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง บนแม่น้ำโขงช่วงแขวงจำปาสัก ประเทศลาว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลลาวได้เริ่มก่อสร้างแล้ว

จุดก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง บนแม่น้ำโขงช่วงแขวงจำปาสัก ประเทศลาว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลลาวได้เริ่มก่อสร้างแล้ว

จุดก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง บนแม่น้ำโขงช่วงแขวงจำปาสัก ประเทศลาว ซึ่งขณะนี้รัฐบาลลาวได้เริ่มก่อสร้างแล้ว

 

นายกฤษกร ศิลารักษ์ แกนนำสมัชชาคนจน ผู้ติดตามโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮงกล่าวว่า จุดที่ตั้งโครงสร้างฐานของตัวเขื่อนที่ปิดช่องทางน้ำฮูสะโฮง จะทำให้ชาวบ้านในบริเวณหางดอนคอน และชาวบ้านดอนสะดำ ที่เคยจับปลาในบริเวณวังยาง ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นปากอ่าวและเป็นจุดที่น้ำไหลมาบรรจบกับหลี่ผี ไม่สามารถจับปลาได้ เพราะน้ำจากฮูสะโฮงไหลลงมาไม่ได้ นอกจากนี้ยังกระทบแหล่งอาศัยของโลมาอิรวดีหรือ "ปลาข่า" ฝูงสุดท้ายที่มีความอ่อนไหวสูง แหล่งที่อยู่ของโลมาอิรวดีอยู่ห่างจากจุดก่อสร้างท้ายเขื่อนดอนสะโฮงเพียง 500 เมตร ซึ่งปัจจุบันเหลือโลมาอิรวดีเหลืออาศัยเพียง 5 -7 ตัวเท่านั้น

"เขื่อนดอนสะโฮงถูกต่อต้านจากประเทศที่อยู่ท้ายเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ทั้งประเทศกัมพูชาที่จะได้รับผลกระทบด้านการพังของตลิ่ง เนื่องจากบริเวณนั้นมีชุมชนกัมพูชาที่อยู่ท้ายเขื่อนดอนสะโฮงเพียง 1 กิโลเมตร และประเทศเวียดนาม ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มรุกพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เนื่องจากเมื่อไม่มีน้ำจืดจากแม่น้ำโขงลงไปผลักดัน น้ำทะเลก็จะไหลรุกล้ำขึ้นมา" นายกฤษกรกล่าว

นอกจากนี้การสร้างเขื่อนดอนสะโฮงยังส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในแขวงจำปาสัก อย่างเช่น น้ำตกคอนพะเพ็งที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็น "ไนแองการาแห่งเอเชีย" ซึ่งเป็นหนึ่งในมหานทีสี่พันดอน ซึ่งหากมีการปิดช่องทางน้ำบริเวณฮูสะโฮงอาจทำให้คอนพะเพ็งมีปริมาณน้ำลดลงและส่งผลกระทบในระยะยาวได้

นายกฤษกรกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะยังมีการถกเถียงถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงต่อน้ำตกคอนพะเพ็ง แต่ทางกายภาพของสายน้ำ เมื่อมีการปิดทางน้ำก็เชื่อได้ว่าย่อมส่งผลอย่างแน่นอน แต่การดำเนินการในกระบวนการ PNPCA ยังไม่เสร็จสิ้น ก็ได้มีการเดินหน้าสร้างเขื่อนดอนสะโฮงไปแล้ว

"แม้จะมีการทักท้วงจากประเทศสมาชิก MRC และขอให้มีการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงข้ามพรมแดน เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นความท้าทายการทำหน้าที่ของ MRC ในการสร้างกลไกที่เข้มงวดต่อการพัฒนาในแม่น้ำโขงให้เกิดความยั่งยืน" นายกฤษกรกล่าว

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่คอนพะเพ็ง แขวงจำปาสัก เพื่อสอบถามความคิดเห็นของคนที่นั่นต่อผลกระทบการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง พบว่าในบริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง ยังมีชาวบ้านออกมาทอดแห จับปลาซึ่งมีอยู่อย่างชุมชุมเนื่องจากบริเวณนี้มีน้ำไหลแรง เป็นแหล่งที่ปลาน้ำจืดจากทะเลสาบเขมรหรือ "โตนเลสาบ" ขึ้นมาวางไข่และอยู่อาศัยในบริเวณนี้

น้ำตกคอนพะเพ็ง ประเทศลาว

น้ำตกคอนพะเพ็ง ประเทศลาว

น้ำตกคอนพะเพ็ง ประเทศลาว

 

นายอึง จันทรวงศ์ ชาวเมืองโขง แขวงจำปาสัก บอกว่ามาหาปลาที่คอนพะเพ็งทุกวัน เพื่อนำไปเป็นอาหาร ไม่ได้จับไปขาย เมื่อถามว่ากังวัลกับการสร้างเขื่องดอนสะโฮงหรือไม่ เขายอมรับว่ากังวล เพราะจุดนี้เป็นแหล่งทำมาหากิน หากมีการปิดกั้นลำน้ำโขง อาจจะทำให้น้ำบริเวณนี้เปลี่ยนแปลงไปและปลาจากทะเลสาบเขมรไม่ขึ้นมาวางไข่อีก

ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางต่อไปที่จังหวัดสตึงเตรง ประเทศกัมพูชา ได้พูดคุยกับนายสมอาจ เฮา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทะเลสาบเขมร ชาวกัมพูชา ผู้ริเริ่มการฟื้นฟูพันธุ์ปลาในทะเลสาบเขมร เขาบอกว่า การสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวลาวที่หาปลาในแม่น้ำโขง เนื่องจากเขื่อนจะทำให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติและน้ำท่วมด้านเหนือตัวเขื่อนแล้ว ยังกระทบกับชาวกัมพูชาที่อยู่ริมฝั่งใกล้เคียง หากมีการเปิด-ปิดเขื่อนจะทำให้กระแสน้ำแรงและทำให้ตลิ่งพัง นอกจากนี้แม่น้ำเซกองในจังหวัดสตึงเตรงก็จะมีน้ำน้อยลงไปด้วย ซึ่งมีตัวอย่างผลกระทบแล้วจากการสร้างเขื่อนน้ำตกยาลี ที่ประเทศเวียดนาม ที่ส่งผลต่อแม่น้ำสายต่างๆ ในกัมพูชา

ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทะเลสาบเขมรให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนในกัมพูชาได้ยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ต่อรัฐบาลกัมพูชาไปแล้ว 1 ครั้ง เพื่อแสดงจุดยืนว่าชาวกัมพูชาไม่สนับสนุนการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง และในครั้งนี้ก็ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกัมพูชาเป็นครั้งที่ 2 ที่จะนำมาร่วมกันกับภาคประชาชนใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนามและลาว เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งวางแผนเสนอรายชื่อในที่ประชุมอาเซียน และจะเสนอต่อรัฐบาลกัมพูชา เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนดอยสะโฮงอีกครั้ง

นายสมอาจ เฮา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทะเลสาบเขมร ชาวกัมพูชา

นายสมอาจ เฮา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทะเลสาบเขมร ชาวกัมพูชา

นายสมอาจ เฮา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ทะเลสาบเขมร ชาวกัมพูชา

 

"เขื่อนในแม่น้ำโขงที่มีการก่อสร้างไปแล้ว ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดปัญหาการบุกรุกป่าและการใช้ที่ดินเป็นปัญหาต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เพราะเมื่อประชาชนไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเดิม เขาก็มีข้อจำกัดในการทำอาชีพ ทำให้วิถีชีวิตต้องเปลี่ยนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายสมอาจกล่าว

นอกจากนี้สถานการณ์ในประเทศกัมพูชา ยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาประณามบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งที่มีรายงานว่าอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนสร้างเขื่อนดอนสะโฮงด้วย

ด้าน ยูกะ คิกูชิ ผู้อำนวยการ Mekong Watch ผู้ติดตามศึกษาผลกระทบจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขงกล่าวในเวทีสัมมนา "ย้อนพินิจปากมูลกับการพัฒนาในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2559 แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของสายพันธุ์ปลามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ยูกะอ้างผลการศึกษาความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำ 204 สายทั่วโลกที่พบว่า แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากถึง 781 ชนิด รองจากแม่น้ำแอมะซอนที่พบ 1,271 ชนิด จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเพราะเขื่อนจะทำลายระบบนิเวศซึ่งส่งผลให้พันธุ์ปลาต่างๆ ลดลงไป

ผู้อำนวยการ Mekong Watch กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการสร้างเขื่อน และกระบวนการตัดสินใจในการพัฒนาแม่น้ำโขง ซึ่งพบว่าที่ผ่านมากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าเกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของรัฐบาลแต่ละประเทศกับหน่วยงานด้านการพัฒนาเท่านั้น ทำให้การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน

ยูกะ คิกูชิ ผู้อำนวยการ Mekong Watch ผู้ติดตามศึกษาผลกระทบจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง

ยูกะ คิกูชิ ผู้อำนวยการ Mekong Watch ผู้ติดตามศึกษาผลกระทบจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง

ยูกะ คิกูชิ ผู้อำนวยการ Mekong Watch ผู้ติดตามศึกษาผลกระทบจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง

 

ยูกะเสนอว่า การพัฒนาแม่น้ำโขงต้องทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึงจึงต้องมีการวางกรอบการทำงานใหม่ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ชาวบ้านในพื้นที่มีโอกาสกำหนดแผนการพัฒนาแม่น้ำโขงด้วย จึงจะเกิดความยั่งยืนได้ กล่าวคือการพัฒนาดำเนินไปได้ ขณะที่ระบบนิเวศทางน้ำและวิถีชีวิตของผู้คนก็ไม่ถูกทำลายไปด้วย


เสาวนีย์ นิ่มปานพยุงวงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง