วันนี้ (1 มิ.ย. 2559) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคนมของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2558 พบว่า คนไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยประมาณคนละ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี ขณะที่ทั่วโลกดื่มเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี หรือกล่าวได้ว่าอัตราดื่มนมของคนไทยต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก 4 - 7 เท่า
นพ.วชิระ กล่าวต่ออีกว่า พฤติกรรมการดื่มนมดังกล่าว ส่งผลให้เด็กไทยเมื่อมีอายุ 19 ปี มีความสูงเฉลี่ยเพียง 169.5 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.7 เซนติเมตร ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเดียวกันพบว่า การดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ร่วมกับกิจกรรมทางกายประเภทที่มีการยืดตัว เช่น ว่ายน้ำ และเล่นบาสเก็ตบอล และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่ส่งผลต่อความสูงของร่างกายได้ โดยเด็กก่อนวัยเรียนควรนอน 10-13 ชั่วโมง วัยเรียนควรนอน 9-11 ชั่วโมง และวัยรุ่น 8-10 ชั่วโมง
“ส่วนวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ต้องการสารอาหารเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ป้องกันโรคกระดูกพรุน แนะนำให้ดื่มนมสดรสจืดวันละ 1-2 แก้ว ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ ภาวะอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยวันละ 1-2 แก้ว เพื่อ” อธิบดีกรมอนามัย ระบุ
นพ.วชิระ กล่าวว่า แนะนำให้ประชาชนเน้นบริโภคนมสดรสจืด เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่ผ่านการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น โดยข้อมูลการศึกษาของสำนักโภชนาการกรมอนามัย ที่นำเอานมโคสดแท้ นมปรุงแต่งรสหวาน นมเปรี้ยว ปริมาณ 100 มิลลิลิตร เท่ากันมาเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการ พบว่า นมโคสดแท้จะให้สารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ โปรตีน 3.3 กรัม แคลเซียม 122 มิลลิกรัม วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม วิตามินบี 2 0.21 มิลลิกรัม ในขณะที่นมปรุงแต่งรสหวานกลับให้สารอาหารที่จำเป็นน้อยกว่าคือ โปรตีน 2.3กรัม แคลเซียม 101 มิลลิกรัม วิตามินเอ 38 ไมโครกรัม และวิตามินบี 2 0.20 มิลลิกรัม