ก.อุตสาหกรรม ยันยืนตามมติ 4 กระทรวงหลักกรณีเหมืองแร่ บ.อัคราฯ

สิ่งแวดล้อม
12 มิ.ย. 59
16:51
402
Logo Thai PBS
ก.อุตสาหกรรม ยันยืนตามมติ 4 กระทรวงหลักกรณีเหมืองแร่ บ.อัคราฯ
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ตอบโต้ข่าวการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีกรณีเหมืองแร่ของบริษัทอัคราฯ ว่า ยังคงดำเนินตามมติของ 4 กระทรวงหลัก ย้ำดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด

วันนี้ (12 มิ.ย.2559) นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีมีสื่อออนไลน์เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 เกี่ยวกับผลการรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) ว่า เป็นการแก้ไขรายละเอียดบางประการ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังคงดำเนินการตามข้อเสนอของ 4 กระทรวงหลักที่เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ การไม่อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ การขอประทานบัตรและการขอต่ออายุประทานบัตร โดยกระทรวงฯ จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

“ผมขอยืนยันว่า กระทรวงฯ ยังคงดำเนินการตามมติของ 4 กระทรวงฯ ที่ผ่านมาไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงในการนำเสนอโดยวิดิทัศน์และการรายงานข้อเท็จจริงโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้รายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยไม่มีการนำเสนอเอกสารต่อคณะรัฐมนตรี โดยจากนี้ทุกอย่างยังคงเดิมตามมติร่วมกันของ 4 กระทรวงและเป็นไปตามระเบียบ ข้อกฎหมายกำหนด ซึ่งการดำเนินการของกระทรวงฯได้มีการต่อใบอนุญาตกิจการโลหกรรม เป็นเวลา 7 เดือนไปแล้ว และกำลังดำเนินการตามกฎหมายในการไม่อนุญาตสัมปทานทำเหมืองที่บริษัทขอต่ออายุใบอนุญาต” นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ มติที่ประชุมของ 4 กระทรวงฯ คือกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีดังนี้ 1.ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตร 2.ในกรณีของบริษัทอัคราฯ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงานและเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัทอัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต 3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนและบรรเทาปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดการประกอบกิจการเหมืองแร่และโลหะกรรมของบริษัท อัคราฯ ดังนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กำกับดูแลการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง กระทรวงแรงงาน ดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ ส่วนเหมืองทองชาตรีของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ใน จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมหมดลงในวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง 4 กระทรวง มีมติให้ขยายไปถึงวันที่ 31 ธ.ค.2559 เพื่อให้พนักงานและผู้รับเหมารวมกว่า 1,000 คน หางานใหม่ได้ทันและเปิดทางให้บริษัทผลิตแร่ได้โดยไม่เกิดความเสียหาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง