วันนี้ (23 มิ.ย.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติในกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า เพิกเฉยไม่ดำเนินการไต่สวน กรณีมีหนังสือร้องทุกข์ของปลัดกระทรวงกลาโหม และนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่ทราบดีว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำการตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
กรณีพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล และออกคำสั่งให้นายทหารชั้นนายพลไปช่วยปฏิบัติราชการโดยมิชอบ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า
1.ประเด็นก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมิชอบ ฟังได้ว่าพฤติการณ์ของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ที่ได้เสนอชื่อบุคคลที่ตนเองเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ของกระทรวงกลาโหมพิจารณา เป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นรมว.กลาโหม เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย โอนเลื่อนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองของกระทรวงกลาโหม เพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) และ (2)
และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 ข้อ 15 การกระทำดังกล่าวจึงมีมูลเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่เป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 58 และมาตรา 64 จึงให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับในส่วนของความผิดทางอาญายังฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริต หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข้อกล่าวหาทางอาญาจึงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
2.ประเด็นออกคำสั่งให้นายทหารชั้นนายพลไปช่วยปฏิบัติราชการโดยมิชอบ ยังฟังไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป