ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวอังกฤษกว่าล้านคนลงชื่อออนไลน์เรียกร้องจัดประชามติรอบ 2

ต่างประเทศ
27 มิ.ย. 59
10:57
185
Logo Thai PBS
ชาวอังกฤษกว่าล้านคนลงชื่อออนไลน์เรียกร้องจัดประชามติรอบ 2

วันนี้ ( 27 มิ.ย.2559 ) หลังการทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน จะจบลงแล้วโดยผลการนับคะแนนลงประชามติ ปรากฎว่าชาวอังกฤษร้อยละ 52 ให้ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ยุติการอยู่ร่วมกันมานาน 43 ปี แต่สถานการณ์ภายในอังกฤษยังไม่จบ เมื่อชาวอังกฤษกว่า 3 ล้านคนร่วมลงชื่อออนไลน์เรียกร้องให้จัดการลงประชามติรอบใหม่

ทั้งนี้กฏระเบียบในการยื่นข้อเรียกร้องต่อสภาผู้แทนราษฏร หากมีคนเข้าชื่อมากกว่า 100,000 คน คณะกรรมการจะพิจารณานำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา แต่ตอนนี้จำนวนรายชื่อมากกว่าที่ต้องการถึงสิบเท่า โดยระบุว่ารัฐบาลควรจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียูของอังกฤษอีกครั้ง หากฝ่ายโหวตอยู่หรือโหวตออกชนะไปด้วยสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 60 และมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 75

ทั้งนี้ การทำประชามติครั้งประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยผลการนับคะแนนลงประชามติ ปรากฎว่าชาวอังกฤษร้อยละ 52 ให้ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ยุติการอยู่ร่วมกันมานาน 43 ปี

อังกฤษเคยมีกรณีเทียบเคียงกับการเข้าชื่อเรียกร้องทางออนไลน์แบบนี้มาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือมีการเข้าชื่อกันของผู้คนมากกว่า 500,000 คน เรียกร้องให้รัฐห้ามนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกันไปแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเข้าประเทศอังกฤษ เพราะนายทรัมป์มักหาเสียงด้วยวาทะที่แสดงถึงความเกลียดชังหรือเฮทสปีช ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษก็ได้นำเอาข้อเรียกร้องดังกล่าวไปอธิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสภา แต่สรุปแล้วเมื่อนายทรัมป์เดินทางมาอังกฤษเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ปรากฏว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

สำหรับผู้ที่คาดว่าน่าจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายคาเมรอน น่าจะเป็นผู้อยู่ในฝ่ายต้องการให้อังกฤษออกจากอียู เพื่อให้สอดคล้องกับผลของประชามติ หนึ่งในนั้นก็คือนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน แกนนำฝ่ายให้อังกฤษออกจากอียู ท่ามกลางเสียงเรียกร้องและการล่ารายชื่อในคำร้องขอให้จัดทำประชามติรอบที่ 2 ที่มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 3,200,000 รายชื่อ แต่ก็มีรายงานว่าสภาผู้แทนราษฎรตรวจพบว่ามีความผิดปกติ และต้องลบรายชื่อออกไปแล้ว 77,000 รายชื่อ และจะต้องตรวจสอบความผิดปกติต่อไป

นายเดวิด มิลิแบนด์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษให้สัมภาษณ์กับรายการ "มีทเดอะเพรส" ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีจากสหรัฐอเมริกา ว่าต้องให้ความเคารพกับกระบวนการและผลของการลงประชามติ ซึ่งสิ่งที่ควรทำมากที่สุดในตอนนี้คือ ให้การสนับสนุนรัฐบาลใหม่ของอังกฤษ แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าผู้ที่อยู่ในฝ่ายต้องการให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป มีความหวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่งต่อการเจรจาขอถอนตัวออกที่จะมีขึ้น

ด้านกลุ่มประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอียูเรียกร้องให้อังกฤษรีบเปิดการเจรจาเพื่อถอนตัวโดยทันที โดยก่อนหน้านี้ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศว่าจะลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลประชามติ ระบุว่า จะไม่เริ่มเจรจาในตอนนี้ แต่จะรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ดำเนินการ คาดจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม

ขณะเดียวกันการทำประชามติรอบ 2 ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากก่อนหน้าการลงประชามติ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ได้เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าผลออกมาใกล้เคียงกันก็จะไม่มีการจัดประชามติซ้ำ เพราะหากทำเช่นนั้นก็เหมือนกับการออกกฏหมายให้มีผลย้อนหลังซึ่งผิดหลักสากล

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง