ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เกาหลีใต้อัดฉีดงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 6 แสนล้านบาท

ต่างประเทศ
28 มิ.ย. 59
21:37
206
Logo Thai PBS
เกาหลีใต้อัดฉีดงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 6 แสนล้านบาท
รัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ทำมาตรการรับมือกับผลกระทบจากการที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ทุ่มงบประมาณมากกว่า 600,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะหดตัวอย่างหนัก

กระทรวงการคลังของเกาหลีใต้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2559 จากร้อยละ 3.1 ลดลงเหลือร้อยละ 2.8 สาเหตุมาจากความต้องการในตลาดโลกลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกและการที่อังกฤษลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ก็ถือเป็นปัจจัยลบ ซึ่งจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ลดลงอย่างมาก

รัฐบาลจึงอัดฉีดงบประมาณเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 20 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 612,000 ล้านบาท โดยเงินครึ่งหนึ่งจะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างงานและช่วยบรรเทาผลกระทบจากความซบเซาของอุตสาหกรรมต่อเรือ ซึ่งเคยเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่เนื่องจากการความต้องการเรือที่ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 17 เดือน ทำให้บริษัทต่อเรือต้องปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก ส่วนงบประมาณอีกครึ่งหนึ่งจะกระจายไปยังกองทุนสาธารณะและหน่วยงานของรัฐบาลที่จะนำเงินไปลงทุนในด้านต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษญกิจเมื่อปี 2558 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี

ส่วนที่ญี่ปุ่น วันนี้ (28 มิ.ย.2559) มีการประชุมฉุกเฉินระหว่างคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นและประธานสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น เพื่อหารือถึงผลกระทบจากกรณีที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากอียู

นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจจะได้รับผลกระทบในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งญี่ปุ่นจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดและเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องส่งข้อความไปยังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือจี 7 ว่าจี 7 จะต้องใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการทำให้ตลาดมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ หลังมีการประกาศผลประชามติในอังกฤษอย่างเป็นทางการ ตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นปรับลดลงหนักสุดในรอบกว่า 5 ปี แม้ว่าวันนี้ดัชนีจะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ปริมาณการซื้อขายยังเบาบาง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง