ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ประวัติสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สังคม
28 ก.ค. 54
06:36
642
Logo Thai PBS
ประวัติสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นับเป็นการสูญเสียพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายใน ที่มีพระชนมายุสูงสุดในขณะนี้ และยังเป็นการสูญเสียพระบรมวงศ์ที่ทรงคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

"ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิด และต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์ แห่งความเป็นราชนารี ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต" พระปณิธานตอนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีพระดำรัสไว้เมื่อคราวงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2529 เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพระจริยวัตรตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะทรงปฏิบัติพระองค์ ในฐานะพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกำลังสำคัญต่อกิจการของบ้านเมือง ที่ทรงมีพระทัยแน่วแน่ ที่จะแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แม้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์จะต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับพระอนามัย นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่ทรงได้รับการอภิบาลด้วยพระเมตตา จากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นพระมาตุจฉาเจ้า ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระชนนีของพระองค์ ทรงมีรับสั่งเล่าว่า "หากไม่ได้สมเด็จพระพันวัสสา ก็เห็นพระเจ้าภคินีเธอฯ คงไม่เป็นพระองค์"

การที่สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงมีพระเมตตายิ่งต่อพระเจ้าภคินีเธอฯ นั้น เป็นเพราะทรงห่วงใยว่าเป็นกำพร้าตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เนื่องด้วย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประสูติได้ 1 วัน คือวันที่ 24 พฤศจิกายน 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในวันถัดมา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ต่อสมเด็จพระพันวัสสาฯ ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตฝากฝังให้ช่วยดูแลพระราชธิดาของพระองค์ด้วย

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับพระอนามัย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงต้องเผชิญ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร โดยเมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ทรงพระอักษรที่โรงเรียนราชินี และทรงตามเสด็จ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระชนนี เพื่อทรงพระอักษรต่อและรักษาพระอนามัย รวมถึงเพื่อความปลอดภัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ประเทศอังกฤษ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เพียง 5 ปี  

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส จนมีความชำนาญทางภาษาเป็นอย่างดี และทรงมีพระอัจฉริยภาพในการทรงเปียโนได้อย่างคล่องแคล่ว โดยไม่ต้องทอดพระเนตรโน้ต ซึ่งทรงได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าฟ้าฯนักดนตรี และยังได้ให้การอุปถัมป์กับองค์กรและชมรมดนตรีอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพ  

ในปี 2502 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร ประทับ ณ วังรื่นฤดี สุขุมวิท 38 อย่างเรียบง่าย และทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจเพื่อประชาชนมากขึ้นเป็นลำดับ และด้วยพระจริยวัตรที่งดงาม มีวาจาสุภาพนุ่มนวล ทรงวางพระองค์เหมาะสม ไม่ถือพระองค์ มีน้ำพระทัย จึงทรงเป็นที่รักของพสกนิกรทั่วไป

หนึ่งในพระจริยวัตรที่เป็นที่จดจำและได้รับการสรรเสริญ คือ การที่ทรงตรงต่อเวลาเป็นอย่างยิ่ง และยังทรงให้ความสำคัญกับความเป็นไทยโดยเฉพาะการฉลองพระองค์ด้วยผ้าไทย เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชบริพารและพสกนิกร ให้รักและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึ่งความเป็นไทยนี้เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะการรับสั่งด้วยภาษาไทยที่ถูกต้องและเคร่งครัด แม้จะมีความชำนาญในการใช้ภาษาต่างประเทศ และเสด็จไปประทับที่อังกฤษตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แต่ทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของไทยไว้อย่างดีเยี่ยม

แม้พระอนามัยในช่วงหลังของพระชนม์ชีพ จะไม่เอื้ออำนวยต่อพระกรณียกิจ แต่ทรงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ในการบำรุงองค์กรต่างๆ โดยมีพระปณิธานที่แน่วแน่ ในการแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสืบสานพระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาอย่างเต็มพระกำลัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง