คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชี้ชะตา โครงการแลนด์บริดจ์ปากบารา 1 ส.ค.นี้

สิ่งแวดล้อม
20 ก.ค. 59
08:57
1,166
Logo Thai PBS
คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชี้ชะตา โครงการแลนด์บริดจ์ปากบารา 1 ส.ค.นี้
คชก.เห็นชอบ "อีไอเอ" โครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณา 1 ส.ค.นี้

วานนี้ (19 ก.ค.2559) สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาติดตามผลการศึกษาความเหมาะสมในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2559 ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล) ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และท่าเรือสงขลา 2 ด้วยเส้นทางรถไฟความยาวประมาณ 142 กิโลเมตร โดยพบว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคมได้จัดส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว

นายสุโข อุบลทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สผ. กล่าวว่า รายงานอีไอเอแลนด์บริดจ์ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) แล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.2559 ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในวันที่ 1 ส.ค.นี้
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้า กล่าวว่า โครงการท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลาเป็นท่าเรือน้ำลึกประเภทเดียวกัน เดิมกระทรวงคมนาคมมองว่าท่าเรือปากบาราจะเชื่อมไปยังประเทศตะวันตก ส่วนท่าเรือสงขลา 2 เป็นการขยายประสิทธิภาพของท่าเรือสงขลาเดิม แต่หากการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือนี้ สามารถเพิ่มศักยภาพของการขนส่ง ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น
นายสมบูรณ์ คำแหง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวว่า โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราไม่ได้เป็นโครงการเดี่ยว แต่จะเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่มีเส้นทางรถไฟเชื่อมท่าเรือสองฝั่งเข้าหากัน ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่าเป็นคนละโครงการกัน จึงต้องทำให้ข้อมูลภาพรวมของโครงการทั้งหมดเปิดเผยสู่สาธารณะมากกว่านี้
นายภูมินทร์ หะรินสุต ประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย กล่าวว่า แม้ผู้ประกอบการจะอยากมีประตูออกสู่อันดามัน แต่ความคุ้มค่าไม่ได้อยู่ที่สามารถร่นระยะเวลาเดินเรือมากน้อยเพียงใด เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการจะใช้พิจารณาว่าจะใช้ท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าหรือไม่จึงอยู่ที่ราคาสินค้าเหมาะสมหรือไม่ ฉะนั้นหากจะก่อสร้างเพื่อเก็บค่าเทียบเรือ เก็บค่าผ่านสินค้า คงจะเป็นไปไม่ได้

“ตัวอย่างเช่นการขนส่งยางพาราไปจีน ทำไมออกจากท่าเรือสงขลาจึงแพงกว่าออกจากท่าเรือปีนัง ทั้งที่ปีนังวิ่งไกลกว่าอีก 5 วัน นั่นเพราะค่าระวางเรือจากสงขลาไปจีนนั้นแพงกว่า ดังนั้นเราต้องคิดว่าถ้าจะก่อสร้างจริงจะสามารถแข่งขันกับท่าเรืออื่นอย่างไร มีจุดเด่นที่จะขายอย่างไร”นายภูมินทร์ กล่าว

พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางน้ำและการพาณิชยนาวี กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นเพียงส่วนย่อยของยุทธศาสตร์ใหญ่คือการเป็นจุดศูนย์กลางแหล่งกระจายสินค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างอาเซียน และท่าเรือปากบาราก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะ จ.สตูล เท่านั้น
สำหรับการดำเนินการ ขณะนี้มีการเชื่อมเส้นทางรถไฟกับประเทศกัมพูชา ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ส่วนประเทศลาวก็กำลังสร้างโกดังสินค้าซึ่งจะมีเส้นทางรถไฟเชื่อมไทยให้เป็นประตูสู่ทะเล ทางด้านประเทศพม่าก็อยู่ระหว่างเจรจาทั้งเส้นทางรถไฟและรถยนต์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการขนส่งระหว่างทวีปอื่นๆ ด้วย

นายภัทรพนธ์ รัตนพิเชฏฐชัย ผวจ.สตูล กล่าวว่า จ.สตูล เป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นผลประโยชน์ของชาติไทยต้องมาก่อน ผลประโยชน์ของภาคหรือจังหวัดต้องรองลงมา และผลประโยชน์ของชุมชนก็ต่ำกว่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะละเลยความเดือดร้อน

“การรับฟังความคิดเห็นก็ได้มีมาแล้วมากมาย แต่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จเพราะมีการคัดค้านต่อต้าน จึงอยากขอให้ทุกฝ่ายไม่ว่าราชการ ท้องถิ่น ผู้สนับสนุน ผู้คัดค้าน นักวิชาการ หรือเอ็นจีโอ มาร่วมลงนามเอ็มโอยูกันดีกว่า ตกลงกันว่าเราจะผลักดันให้เกิดการศึกษาให้สำเร็จ ไม่เช่นนั้นก็จะพูดไปคนละทิศละทาง”นายภัทรพนธ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง