สนช.-กรธ.เปิดถกแนวทางปรับแก้ร่าง รธน. นักข่าวอาวุโสย้ำยึดเจตนาประชาชนผ่านเสียงประชามติ | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส

สนช.-กรธ.เปิดถกแนวทางปรับแก้ร่าง รธน. นักข่าวอาวุโสย้ำยึดเจตนาประชาชนผ่านเสียงประชามติ

การเมือง
19 ส.ค. 59
11:57
121
Logo Thai PBS
สนช.-กรธ.เปิดถกแนวทางปรับแก้ร่าง รธน. นักข่าวอาวุโสย้ำยึดเจตนาประชาชนผ่านเสียงประชามติ

วันนี้ (19 ส.ค.) นายมงคล บางประภา ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งทำข่าวการเมืองมานานกว่า 20 ปี ส่งข้อความเผยแพร่ในกลุ่มไลน์ของผู้สื่อข่าว และกลุ่มการเมืองต่างๆ ระบุว่า

วันนี้ เจตนารมณ์ส่วนที่ดีที่สุดประเด็นหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญ กำลังถูกท้าทายในกระบวนการปรับแก้ให้สอดคล้องกับผลของคำถามพ่วง นั่นคือสาระหลักในเจตนารมณ์ ที่จะให้บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นผู้นำประเทศ ปรากฎตัวต่อสาธารณะก่อนการตัดสินใจใช้สิทธิ์ของประชาชน หรือสิ่งที่ กรธ. ชูเป็นจุดเด่นข้อดีในทุกเวทีที่ชี้แจงต่อสาธารณะ ว่า

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเจตนาที่จะป้องกันไอ้โม่ง ที่อยู่ ๆ โผล่ขึ้นมาโดยเจ้าของสิทธิ์ไม่มีใครรู้ เข้ามาสู่อำนาจสูงสุดทางการเมือง”

แต่จุดท้าทายที่กล่าวถึงในขณะนี้ คือปรากฏเสียงเรียกร้องจาก สปท. บางส่วนที่แสดงตัว และ สนช. บางส่วนที่ยังไม่แสดงตัว เรียกร้องให้แปลเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง ว่า ให้ ส.ว. ต้องมีส่วนเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าสู่การลงมติโดยรัฐสภาในเบื้องแรก

“นั่นคือแก้ไขมาตรา 272 ที่วางขั้นตอนไว้แต่เดิมว่า 1.บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อได้ ต้องอยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอและแจ้งต่อ กกต. ก่อนสิ้นสุดการปิดรับสมัครผู้เข้ารับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. และต้องเป็นรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่ต่ำกว่า 5 % (25 คน) หลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการรับรองบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอเป็นนายกฯ โดยเจ้าของสิทธิ์ถึงสองเงื่อนไข”

2.หากผลการลงมติเลือกนายกฯ ไม่สามารถตกลงกันได้ คือไม่สามารถรวมกันได้เสียงข้างมาก เนื่องจากมีการเสนอตัวเลือกมากกว่าสามพรรค หรือไม่มีตัวเลือกเป็นที่พอใจของเสียงข้างมากเลย ก็จะต้องมีขั้นตอนสองขยัก คือ (ก.) ให้ ส.ส.เข้าชื่อกันเกินครึ่ง (251 เสียงขึ้นไป) ร้องขอให้ประธานรัฐสภา (ข.) เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อขอเสียงสนับสนุนให้ได้เกินสองในสาม (มากกว่า 500 เสียงในบทเฉพาะกาล) จึงจะยกเว้นเงื่อนไขการเสนอรายชื่อนอกบัญชีได้

“แปลว่า ผู้ตั้งเรื่องขยักแรกต้องเป็นสภาผู้แทนราษฎร ส่วนผู้มีส่วนสนับสนุนด้วยหรือไม่ ในขยักที่สองจึงจะให้วุฒิสภาเข้ามามีส่วนร่วม และหากเสียงไม่ถึงตามกำหนด สภาผู้แทนฯ ก็ยังต้องพยายามเสนอบุคคลในบัญชีรายชื่อต่อไป ส่วนนี้ถือเป็นหลักประกันขั้นที่สาม ที่จะป้องกัน "ไอ้โม่ง" ไม่ให้เข้ามาหากไม่วิกฤติจำเป็นจริงๆ”

ดังนั้น การเสนอให้ยุบขั้นตอนสองขยักเหลือเพียงขยักเดียว โดยอ้างว่าเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงต้องการให้สิทธิ ส.ว. ในการเสนอชื่อบุคคลที่เป็นนายกฯ ด้วย จึงขัดด้วยบทถาวร ซึ่งจะทำให้เจตนารมณ์ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่จะมีส่วนได้ป้องกัน “ไอ้โม่ง” หมดประสิทธิภาพไปตั้งแต่ต้น

และที่สำคัญ ขัดต่อหลักข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

1.ผลการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 เสียง ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียง และผลการเห็นชอบคำถามพ่วง หรือประเด็นเพิ่มเติม 15,132,050 เสียง ไม่เห็นชอบ 10,926,648 เสียง ซึ่งสะท้อนว่าตัวร่างรัฐธรรมนูญได้รับเสียงรับรองมากกว่าคำถามพ่วง และเสียงคัดค้านคำถามพ่วง สูงกว่าเสียงคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ

สิ่งนี้ย่อมเป็นข้อยืนยันตรงกันว่า ผู้ออกเสียงประชามติรับรองในหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าหลักการของคำถามพ่วง ผ่านทั้งเสียงเห็นชอบและไม่เห็นชอบ การอ้างเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงให้เหนือกว่าเจตนารมณ์ของตัวร่างรัฐธรรมนูญจึงขัดแย้งด้วยข้อเท็จจริง

2.ข้อยุติในเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง ต้องเป็นข้อยุติที่ชัดเจนก่อนจะให้ผู้มีสิทธิ์ได้ตัดสินใจออกเสียงประชามติครั้งสำคัญของประเทศ โดยปรากฎในถ้อยคำที่ให้ประชาชนได้ติดสินใจอย่างชัดเจน รวมทั้งคำชี้แจงของ สนช. ในเวทีชี้แจงต่อประชาชนทั่วประเทศ ไม่ใช่ผ่านการออกเสียงแล้วค่อยมาหารือกันว่าเจตนารมณ์เป็นอย่างไร ดังที่มี สนช. บางท่าน (สามารถตรวจสอบได้จากรายงานการประชุม) ได้อภิปรายว่า "หาก สนช. ต้องการจะไปให้สุด ก็ควรเขียนให้สุดตั้งแต่แรก ก่อนที่จะให้ประชาชนตัดสิน"

จึงปรากฎในถ้อยคำของคำถามพ่วงว่า

“เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

จะเห็นได้ว่า เจตนารมณ์หลักคือเพื่อการปฏิรูปและการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ จึงให้ ส.ว.มีส่วนร่วมลงมติตัวบุคคลที่เป็นนายกฯ ไม่ใช่เจตนารมณ์หลักเพื่อให้ ส.ว. ได้กำหนดตัวนายกฯ จนสมควรให้ ส.ว. เสนอรายชื่อบุคคลด้วย เพราะหากเป็นความต้องการอย่างหลัง ก็ควรที่จะเขียนว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้เสนอชื่อ และพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ก็จะไม่ต้องมีข้อถกเถียงในภายหลัง

และเท่าที่มีโอกาสติดตามการทำข่าวเวทีอภิปรายทั่วประเทศของ กรธ. หลายเวที ซึ่งมี สนช. ตามไปชี้แจงเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงด้วยทุกครั้ง ยืนยันได้ว่า ไม่เคยได้ยิน สนช. ท่านใดชี้แจงว่า ต้องการให้ ส.ว. มีส่วนเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ด้วย เพียงอธิบายว่ามีส่วนในการร่วมลงมติเท่านั้น และเป็นไปไม่ได้ที่ผมเองซึ่งทำข่าวสายการเมืองมามากกว่า 25 ปี จะยอมให้ประเด็นดังกล่าวซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มีผลต่ออนาคตของโครงสร้างการเมืองผ่านหูไปได้นับสิบครั้งโดยไม่หยิบยกมาเขียนเป็นข่าวเลย

3.ด้วยเจตนารมณ์หลักตามที่อ้างไว้ในข้อ สองข้างต้น หากให้ ส.ว. เสนอชื่อบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ได้แต่ต้น โดยไม่ต้องรอผ่านขั้นตอนตามขยักที่หนึ่งเป็นเงื่อนไขแล้ว ย่อมเปิดช่องให้เกิดการฝืนเจตนารมณ์ของพรรคการเมือง ซึ่งรับรองโดยผ่านเจตนารมณ์ในการลงคะแนนเลือกตั้งแต่ละครั้ง และทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดปรากฎการล้มเหลวในความต่อเนื่องของรัฐบาล

กล่าวคือโดยบทบัญญัติในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญ ยังคงกำหนดเงื่อนไขของการเห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินตามมาตรา 143 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 อันมีผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 โดยวางหลักการสำคัญให้เป็นการตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นนัยสำคัญ โดยวุฒิสภาไม่ใช่ตัวแปรร่วม หรือมีส่วนด้วยเลยในกรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่ขัดกันโดยตรรกะและเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เมื่อ “ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อแต่ต้น กลับได้รับสิทธิ์ในการเลือกว่าอยากจะมีส่วนในการเสนอชื่อหรือไม่”

ดังนั้นหากรายชื่อที่วุฒิสภาเสนอให้เป็นนายกฯ ไม่ได้เป็นฉันทามติจากพรรคการเมือง ย่อมมีโอกาสเกิดความหมิ่นเหม่ต่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะโอกาสที่จะได้รัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน ฯ แม้จะเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภาก็ตาม

ซึ่งความหมิ่นเหม่นี้ย่อมจะย้อนกลับมาทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นเจตนารมณ์หลักของคำถามพ่วงสะดุด เพราะรัฐบาลที่ง่อนแง่น หรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อย ย่อมกระทบกับความต่อเนื่องในการดำเนินการปฏิรูปตามที่ตั้งใจ

จึงขอวิงวอนให้การตัดสินใจครั้งสำคัญของ กรธ. ในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงครั้งนี้ ได้แสดงความเป็นอิสระที่จะยืนหยัดเจตนารมณ์เดิม อันเป็นเจตนารมณ์หลักในร่างรัฐธรรมนูญ ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ออกเสียงประชามติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง