พุกามแดนเจดีย์แห่งศรัทธา

Logo Thai PBS
พุกามแดนเจดีย์แห่งศรัทธา
เพียงไม่กี่วันหลังเหตุแผ่นดินไหว สถานการณ์ในพุกามก็กลับมาเกือบเหมือนดังเดิม ทั้งนี้เพราะเป็นอีกเมืองที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือศรัทธาของชาวเมียนมายังมั่นคงต่อสักการะสถานเหล่านี้ไม่เปลี่ยน

ทุ่งกว้างเมืองพุกามยังเต็มไปด้วยทะเลเจดีย์ ดังสมญานามเแดนเจดีย์สี่พันองค์ แม้เพิ่งผ่านเหตุการณ์ธรณีพิบัติจนทำให้โบราณสถานส่วนหนึ่งเสียหายเรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ผลจากแผ่นดินไหวทำให้เจดีย์ฉัตรตั้ง "ติโลมินโล" เจดีย์ขนาดใหญ่อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หักโค่นลงมา แม้ความเสียหายจะไม่เกินความสามารถซ่อมแซมบูรณะได้ แต่ก็สร้างความสะเทือนใจแก่ชาวเมียนมาที่ได้พบเห็น

 

 

 

ชาวเมียนมากลุ่มนี้ เดินทางมาไกลเกือบร้อยกิโลเมตร เพราะอยากเห็นว่าศาสนสถานที่เคารพเสียหายมากเพียงใด เมื่อได้มาเห็นภาพยอดเจดีย์หักครั้งแรก ก็รู้สึกสะเทือนใจมากจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ แต่ในฐานะชาวพุทธ แม้สิ่งก่อสร้างจะได้รับความเสียหาย แต่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ยังอยู่ในใจ เตือนตัวให้มีสติกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พุกาม คือรอยอดีตอันรุ่งเรืองของราชธานีแห่งแรกของเชาวเมียนมา สถาปนาโดยพระเจ้าอโนรธาเมื่อ 900 กว่าปีก่อน ยุคสมัยไล่เลี่ยกับนครวัด หากแต่ผู้คนในพุกามเวลานั้นแนบแน่นในพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่าการสร้างเจดีย์ได้บุญมากและเป็นเกียรติยศแก่ผู้สร้าง จึงมีเจดีย์มากมายสร้างโดยชนทุกชั้นตั้งแต่กษัตริย์จนถึงชาวบ้าน ที่สำคัญยังเชื่อกันว่าบรรพกษัตริย์แห่งพุกามสาปไว้ว่าผู้ใดที่ทำลายเจดีย์ จะไม่ได้ไปเกิดในแผ่นดินพระศรีอารย์ถึง 7 ชั่วอายุคน

 

ตลอดเวลา 243 ปีของอาณาจักรพุกาม จึงมีหมู่เจดีย์มากมายหลายพันองค์ ทั้งสภาพอากาศยังจัดอยู่ในเขตร้อนแห้งแล้งกึ่งทะเลทราย มีปริมาณน้ำฝนและความชื้นต่ำกว่าเขตอื่น ไม่เอื้อต่อการเติบโตของวัชพืช ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายโบราณสถาน นอกจากนี้ภูมิปัญญาในการเรียงอิฐของช่างสมัยพุกาม ทำให้โครงสร้างของวัดและเจดีย์มีความแข็งแกร่ง คงทน แม้ผ่านเวลามาเนิ่นนานเจดีย์สถานเสื่อมสลายไปบ้าง แต่จนถึงวันนี้ยังคงเหลืออยู่ถึงกว่า 2,000 องค์

การเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ที่วัดธรรมยางจีเสียหายเพียงเล็กน้อย เช่นเดียวกับเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมา วัดธรรมยางจีก็ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก จึงนับได้ว่าสถานที่แห่งนี้คงความสมบูรณ์ของโครงสร้างโบราณสถานแบบเดิมไว้ได้มากที่สุด

 

 

นี ชาน มัคคุเทศก์ชาวเมืองพุกามบอกว่า ที่วัดธรรมยางจีแห่งนี้มีเพียงฐานล่างเท่านั้นที่บูรณะขึ้นใหม่ หากโครงสร้างเดิมอายุกว่า 800 ปี ยังมีความสมบูรณ์มาก หวังให้พุกามได้รับเลือกมรดกโลก เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือรายได้สำคัญของเมืองพุกาม ซึ่งเขารู้สึกความภูมิใจในบ้านเกิดตัวเองอย่างมาก

 

 

ธีรภาพ โลหิตกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ปี 2558 อธิบายว่า พุกามเป็นเสมือนคบเพลิงส่องเกียรติยศของชาวเมียนมา ศิลปะเมียนมาในยุคหลังๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคมัณฑะเลย์ ตองอู หงสาวดี มีต้นแบบมาจากศิลปะแบบพุทธศิลป์แบบพุกาม ถ้ามองในแง่ของภาพรวมของโครงสร้างของเมือง เมืองโบราณพุกามยังโครงสร้างหลักๆ อยู่ครบถ้วน เพียงแต่ว่ามีบางส่วนของเจดีย์บางองค์ที่เสียหายไปเท่านั้น

 

 

แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดสร้างความเสียหายแก่โบราณสถานที่พุกามไม่น้อย เจดีย์กว่า 100 องค์ ได้รับผลกระทบ แต่โครงสร้างส่วนใหญ่ยังคงแข็งแรง นานาชาติรวมถึงไทยต่างให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมบูรณะ รัฐบาลเมียนมาเสนอเมืองพุกามเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโกเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ขณะนี้อยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นหรือ Tentative List หากแต่โลกก็รู้จักเมืองโบราณแห่งนี้มาเนิ่นนาน และสำหรับชาวเมียนมายังเคารพสักการะสถานที่นี่อย่างมั่นคง ด้วยเชื่อว่าพลังแห่งศรัทธาจะนำพาจิตวิญญาณสู่สวรรค์

อัญชลี โปสุวรรณ ไทยพีบีเอส รายงานจากเมืองพุกาม สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง