นักวิจัยองค์การสวนสัตว์ เสนอคุมประชากร "เหี้ย" ในสวนลุมพินี

สิ่งแวดล้อม
19 ก.ย. 59
19:50
1,401
Logo Thai PBS
นักวิจัยองค์การสวนสัตว์ เสนอคุมประชากร "เหี้ย" ในสวนลุมพินี
กรุงเทพมหานคร เตรียมย้ายตัวเหี้ยออกจากสวนลุมพินี รอบที่ 3 วันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) นักวิจัยองค์การสวนสัตว์เสนอทางเลือก ควบคุมประชากรเหี้ย ชี้หากไม่มีอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

สวนลุมพินี เขตปทุมวัน เป็นสวนสาธารณะใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละวันจะมีประชาชนนิยมมาออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับตัวเหี้ยที่อาศัยอยู่ภายในสวนสาธารณะแห่งนี้ จากการสำรวจของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พบตัวเหี้ยประมาณ 400 ตัว เนื่องจากสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการอยู่อาศัยของพวกมัน ส่งผลให้ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กทม.จึงมีแนวคิดที่จะย้ายตัวเหี้ยออกจากพื้นที่ ไปอยู่ที่สถานีเพราะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี แต่วิธีนี้ถูกมองว่าอาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเหี้ยสามารถอยู่ร่วมกับคนได้

ผู้ใช้สวนลุมพินีที่มาออกกำลังกาย บอกกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า ไม่ควรจำกัดพื้นที่ตัวเหี้ย แต่เห็นว่าสิ่งที่สามารถทำได้คือการจำกัดปริมาณ เพราะเป็นธรรมชาติของสัตว์ แต่เห็นว่าอาจจะมีการติดตั้งป้ายเตือนให้ระมัดระวังลูกหลาน ผู้ใช้สวนสาธารณะอีกคน กล่าวว่า เหี้ยช่วยทำให้ระบบนิเวศในสวนลุมพินีมีความสมดุล และการมีเหี้ยไม่ได้เป็นเรื่องน่าเสียหาย

นายรุจิระ มหาพรหม นักวิจัยฝ่ายอนุรักษ์ สำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า ถ้ามีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสัตว์ป่า ก่อนที่จะมีการย้ายควรมีการศึกษาประชากร พิจารณาความหลากหลายของอาหาร

 

ลักษณะนิสัยทางธรรมชาติของตัวเหี้ย ไม่ใช่สัตว์ที่ทำร้ายคน และแม้ตัวเหี้ยจะวางไข่ได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30-50 ฟอง แต่อัตราฟักเป็นตัว มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ขณะเดียวกันมันยังเป็นสัตว์ที่ควบคุมระบบนิเวศวิทยาตามสวนสาธารณะได้อย่างดี

"ถ้าไม่มีตัวควบคุมประชากร อาจจะทำให้มีปัญหาอย่างอื่นตามมา เช่น หนู งู อาจจะเพิ่มจำนวนทีวีคูณ หรือนกพิราบ ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการควบคุมอีก" นักวิจัยฝ่ายอนุรักษ์ องค์การสวนสัตว์ ระบุ

วันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.) กทม.จะย้ายตัวเหี้ยออกจากสวนลุมพินี เป็นรอบที่ 3 เพื่อนำไปไว้ยังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี แม้พื้นที่ดังกล่าวจะรองรับตัวเหี้ยได้ แต่นักวิจัยฝ่ายอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กังวลว่า สภาพพื้นที่อาจไม่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของพวกมัน และไม่มีงบประมาณดูแลระยะยาว พร้อมกันนี้ยังเสนอให้มีการควบคุมประชากรตัวเหี้ย ด้วยการทำหมันและจำกัดพื้นที่ให้พอเหมาะพอดีกับความสามารถของพื้นที่ บนพื้นฐานข้อมูลด้านวิชาการ อาจเป็นแนวทางแก้ปัญหาเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศภายในสวนลุมพินีและความปลอดภัยของประชาชน

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง