ลาวยุติแพร่คลื่นรบกวนโครงข่ายทีวีดิจิตอล MUX

เศรษฐกิจ
28 ก.ย. 59
16:43
394
Logo Thai PBS
ลาวยุติแพร่คลื่นรบกวนโครงข่ายทีวีดิจิตอล MUX
สปป.ลาว ยอมยุติการแพร่คลื่นที่มารบกวนโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) ของ อสมท.ที่ จ.นครพนม และตกลงร่วมมือในการวัดสัญญาณคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาคลื่นรบกวนบริเวณแนวชายแดน และการใช้คลื่นความถี่ร่วมสำหรับกรณีเกิดภัยพิบัติ

วันนี้ (28 พ.ย.2559) พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การที่ประเทศเพื่อนบ้านแต่ละประเทศไม่มีการกำหนดแผนและจัดสรรคลื่นความถี่ร่วมกัน ทำให้ขณะนี้ในบางพื้นที่ที่อยู่บริเวณชายแดนเกิดปัญหาคลื่นรบกวน ซึ่งการประชุมร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานงานและจัดสรรคลื่นความถี่ตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 7 หรือ Joint Technical Committee (JTC) on Coordination and Assignment along common border between Thailand and PDR Loa โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งในส่วนของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมหารือร่วมกัน

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมฝ่ายไทยได้แจ้งปัญหาโครงข่าย (MUX) ของ อสมท. ในพื้นที่ จ. นครพนมถูกรบกวนซึ่งเกิดจาก สปป.ลาว ออกอากาศดิจิตอลทีวีด้วยช่องความถี่ที่ตรงกัน คือ ช่อง 41 ในย่าน 630-638 MHz ส่งผลให้ประชาชนบริเวณ จ.นครพนม และพื้นที่ใกล้เคียงไม่สามารถรับชมช่องรายการที่ออกอากาศผ่าน MUX ของ อสมท.ได้ ซึ่งผลการเจรจา สปป.ลาว ยินดีให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา โดยยุติการใช้งานช่องความถี่ 41 ในพื้นที่ที่อยู่ตรงข้าม จ.นครพนม

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ไทย และ สปป.ลาว ตกลงให้มีการร่วมตรวจสอบด้วยรถตรวสัญญาณ เพื่อนำค่าที่ได้จากการทดสอบมาปรับลดสัญญาณคลื่นความถี่ 850 MHz ในระบบ WCDMA ที่ไปกวนคลื่นความถี่ 900 MHz ในระบบ GSM ของ สปป.ลาว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหาการรบกวนที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้หมดไปได้จนกว่าคลื่นความถี่ 850 MHz จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2561 เนื่องจากในทางเทคนิคเป็นการใช้คลื่นย่านเดียวกันแต่การใช้ของแต่ละประเทศเป็นคนละระบบ

สำหรับการประชุมครั้งนี้จึงได้กำหนดให้มีการแจ้งการจัดสรรคลื่นความถี่ตามแนวชายแดนของแต่ละฝ่ายให้รับทราบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการใช้คลื่นความถี่ร่วมกันกรณีเกิดภัยพิบัติระหว่าง 2 ประเทศ ในย่านความถี่ UHF จำนวน 7 ความถี่ และย่านความถี่ VHF จำนวน 1 ความถี่อีกด้วย

ทั้งนี้ ประเทศไทยก็ได้เสนอการอบรมการวางแผนคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล และการใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการตรวจสอบคลื่นความถี่ ให้แก่ สปป.ลาว ในปี 2560

ข่าวที่เกี่ยวข้อง