"สมุดบันทึกผู้สูงอายุ" ส่งต่อประสบการณ์ชีวิตสู่คนรุ่นหลัง

ไลฟ์สไตล์
30 ก.ย. 59
06:43
1,301
Logo Thai PBS
"สมุดบันทึกผู้สูงอายุ" ส่งต่อประสบการณ์ชีวิตสู่คนรุ่นหลัง
ชีวิตหลังเกษียณทำให้อดีตครูภาษาไทย "นงเยาว์ ช่วยชูวงศ์" ใช้การจดบันทึกเป็นสื่อกลางถึงลูกหลานและคนรอบตัว และยังแบ่งปันสู่โครงการสมุดบันทึกคนไทย ส่งต่อประสบการณ์ชีวิตไว้ให้กับคนรุ่นหลัง

"จะมีต้นทุนเท่าไหร่ ความเชื่อเรื่องไหน เมื่อเกิดมาแล้ว ชีวิตก็ต้องดำเนินไป มีปัญหาอะไรบ้างก็ต้องดำเนินไป แก้ปัญหาไป" ข้อคิดเรื่องต้นทุนชีวิตในบันทึกเรื่อง "เดินทาง" เป็นข้อเตือนใจสำหรับวันนี้ของ นงเยาว์ ช่วยชูวงศ์ อดีตครูภาษาไทยวัย 79 ปี ที่ยังไม่ทิ้งความรักในการถ่ายทอดความรู้ หากในวันที่ไม่มีลูกศิษย์รายล้อม หน้ากระดาษจึงเหมือนเครื่องมือสื่อสารความคิดหลังชีวิตเกษียณ ทั้งมุมมองเรื่องหลักธรรม จดไว้ในรูปแบบความเรียง เรื่องเล่าของคนใกล้ตัว ไปจนถึงเรื่องแต่งคล้ายนิยายจากความฝันของคนเป็นแม่ที่อยากเห็นลูกชายเป็นฝั่งเป็นฝา

"การเขียนบันทึกก็เหมือนเรามีเพื่อนคุย มีญาติที่จะเสวนาด้วย เพราะเรื่องราวที่เขียนถึงคนๆหนึ่ง เท่ากับเราได้คุยกับคนนั้น ซึ่งความเป็นจริงในวัยเรามันเป็นไปไม่ได้แล้ว"

 

 

 

นอกจากเรื่องราวในชีวิตประจำวัน คุณป้านงเยาว์ บันทึกวิถีชีวิตของคนรุ่นแม่เอาไว้ด้วย เช่น สูตรยาสมุนไพร อาหารการกิน นอกจากจดบันทึก ก็ยังนำเอามาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

"...แม่เก็บใบคนทีที่ขึ้นอยู่ริมทะเลมากตากแดดจัดๆ จนแห้งสนิท บดรวมกับข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้หนึ่งคืน..." สูตรเด็ดขนมคนที ของดีบ้านเกิด จ.สงขลา ที่ครูนงเยาว์บันทึกไว้ว่าอร่อยเหาะ หนึ่งในเรื่องเด่นซึ่งได้แบ่งปันผ่านโครงการ "สมุดบันทึกคนไทย" เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัย เขียนบันทึกความคิดและประสบการณ์ชีวิตสู่คนรุ่นหลัง

 

 

"บางครั้งคุณแม่มีความรู้สึกคิดถึงคุณพ่อ หรือว่าเห็นลูกหลานทำอะไรผิดพลาด อยากตักเตือน คุณแม่มักจะใส่ในบทความที่แม่เขียน ส่วนผมเป็นเด็กผู้ชายที่คุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ กัน แต่บางครั้งเราอ่านเรื่องราวที่คุณแม่เขียน สิ่งที่ท่านเตือนจะอยู่ในนั้น" บุลวิชช์ ช่วยชูวงศ์ ลูกชายของป้านงเยาว์ เผยถึงเรื่องราวในสมุดบันทึกของผู้เป็นแม่

 

 

ความชื่นชอบการอ่านเขียนติดตัวมาเกือบทั้งชีวิตความเป็นครู หากในฐานะแม่ นี่ยังเป็นพื้นฐานที่ครูนงเยาว์ปลูกฝังให้กับลูกชายทั้ง 4 คน ให้หนังสือเป็นทั้งเพื่อนและครู มอบความรู้และแนวทางการดำเนินชีวิต

บุลวิชช์ เล่าว่า "สมัยก่อนมีหนังสือวิทยาศาสตร์แปลเป็นการ์ตูนเป็นเซ็ต เรารู้ว่าเงินเดือนข้าราชการของแม่ไม่ได้เยอะมาก แต่เซ็ตนั้นคุณแม่ควักตังค์ซื้อ สำหรับเรามันคือหนังสือ 11 เล่ม ที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่โลกของการอ่าน"

ส่วนป้านงเยาว์ ก็บอกว่า เวลากลับมาจากโรงเรียน เมื่อไม่มีเวลาดูแลลูก วิธีที่จะไม่ให้ลูกๆไกลจากสายตาของแม่ คือแจกกระดาษกับดินสอ กระดาษคนละแผ่น ดินสอคนลดแท่ง แล้วให้นั่งตามขั้นบันได แม่ทำกับข้าวมองมาเห็น ใครอยากเล่นก็เขียนให้เสร็จ ตั้งเรื่องเอาเอง เขียนเอาเอง

งานฝีมือ ทั้งแท็ตติ้ง โครเชต์ และเย็บผ้า เคยเป็นวิชาเรียนสมัยมัธยม ความเข้มงวดของครูยุคก่อนเป็นข้อดีที่ทำให้ทุกวันนี้ยังมีทักษะติดตัว ได้ใช้ทำของเล่นให้หลานๆ หรือตัดเย็บเสื้อผ้าใส่เอง อีกกิจกรรมยามว่างที่สร้างความสุข เพราะเชื่อว่าการได้ลงมือทำสิ่งที่รักและเป็นประโยชน์กับผู้อื่นเท่ากับการเติมเต็มคุณค่าในชีวิตบั้นปลายของตัวเอง

อัญชลี โปสุวรรณ ไทยพีบีเอส รายงาน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง