กรมชลฯ เตรียมแก้มลิงแก้ปัญหาน้ำท่วม คาดฝนตกหนักถึงกลาง ต.ค.

ภูมิภาค
5 ต.ค. 59
14:30
836
Logo Thai PBS
กรมชลฯ เตรียมแก้มลิงแก้ปัญหาน้ำท่วม คาดฝนตกหนักถึงกลาง ต.ค.
กรมชลประทานย้ำแนวทางบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันลดผลกระทบให้น้อยที่สุด เตรียมใช้ทุ่งหรือแก้มลิงรับน้ำช่วงที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์สูงสุด ยืนยันปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะไม่กระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน

วันนี้(5 ต.ค.2559) นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่าเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,853 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตก ในเขต จ.กำแพงเพชร และ จ.อุทัยธานี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น และยังมีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับในพื้นที่ตอนล่าง กรมชลประทานได้ระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริช่วยเร่งระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลลง รวมปริมาณน้ำที่ได้ระบายออกสู่ทะเล ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.–5 ต.ค.59 ปริมาณทั้งสิ้น 232 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักในช่วงเดือนตุลาคม ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้อย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การผันน้ำเข้าทุ่งแก้มลิงกรมชลประทานได้วางแผนใช้ทุ่งต่างๆ ที่เป็นแก้มลิงเอาไว้รองรับน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะเกิดจากฝนตกหนัก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกชุก ตั้งแต่ต้นเดือนไปจนถึงกลางเดือน ต.ค. 2559

อย่างไรก็ตามการพร่องน้ำรอในช่วงนี้จะทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำที่จะมาอีกระลอก ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าการเอาน้ำเข้าก่อนหน้านี้ หากเกิดปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากลงมา จะทำให้ไม่มีที่เก็บกักและชะลอน้ำเอาไว้ ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงมาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมอีกเป็นเท่าตัว อาจจะเกิดความเสียหายแผ่กว้างกว่าที่เป็นอยู่ เพราะปริมาณน้ำจะไหลข้ามคันกั้นน้ำทำให้การควบคุมปริมาณน้ำเป็นไปด้วยความยากลำบาก

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ขณะนี้มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากฝนตกเหนือเขื่อนได้ทั้งหมด ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังอยู่ในเกณฑ์มาก ทำให้ต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มอ่าง

ขณะที่ในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำบริเวณท้ายเขื่อนป่าสักฯ ด้วยการใช้เขื่อนพระราม 6 เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ โดยบริเวณเหนือเขื่อนพระราม 6 จะแบ่งรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ ในปริมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในเกณฑ์ไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งวันนี้(5 ต.ค.)มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 530 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯในครั้งนี้

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เริ่มจะมีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในระบบชลประทานโดยการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกักต่ำสุด เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่จะเกิดจากฝนตกหนักลงมาอีก จากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำที่จะเคลื่อนลงมาสู่พื้นที่ภาคกลางตอนล่างในโอกาสต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง