รำโขน สร้างเสริมกิจกรรมทางกาย

สังคม
16 พ.ย. 59
18:27
480
Logo Thai PBS
รำโขน สร้างเสริมกิจกรรมทางกาย
การทำกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กมีหลากหลายตั้งแต่ออกกำลังกายทั่วไป ทำงานบ้าน หรือการรำโขน ศิลปวัฒนธรรมไทยเป็นการทำกิจกรรมทางกายอย่างหนึ่ง ด้วยลักษณะท่าทางการรำโขนต้องใช้ทุกสัดส่วนของร่างกาย โดยไม่รุนแรงจนเกินไป ถือว่าได้มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้

การฝึกโขนเป็นอีก 1 กิจกรรมทางกาย ที่ช่วยให้ผู้ฝึกได้ออกกำลังกายพร้อมกับฝึกพัฒนาสมอง อย่างเช่น จ.ส.ต.อภิชาติ พิศอ่อน ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ แต่เมื่อใช้เวลาว่างในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มาฝึกการแสดงโขน ส่งผลให้ปัจจุบัน โรคภูมิแพ้ที่เป็นอยู่ไม่ค่อยแสดงอาการ

ท่วงท่าที่หนักแน่น หรืออ่อนโยน ตามลักษณะของตัวละคร อีกทั้งการได้ขยับร่างกายทุกส่วน ทำให้ผู้ที่ฝึกการแสดงโขนเป็นประจำ ได้ฝึกมีสมาธิและการมีวินัยร่วมกับผู้อื่น ที่สำคัญคือผู้ฝึกมีค่ากิจกรรมทางกายอยู่ในเกณฑ์ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือมีการเคลื่อนไหวร่างกายในระดับปานกลาง ไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงครึ่ง

สำหรับผู้ที่ต้องการทราบว่าในแต่ละสัปดาห์ มีกิจกรรมทางกายเข้าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดหรือไม่ สามารถใช้เครื่องวัดระดับกิจกรรมทางกาย (ฟิลฟิต) ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์การเผาผลาญพลังงาน จำนวนก้าวเดิน ระยะทาง และระยะเวลาที่ใช้ไปในกิจกรรมต่างๆ เป็นเครื่องมือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สสส.ผลิตขึ้น

วิธีใช้เพียงแค่ใส่ตัวเลขส่วนสูงและน้ำหนัก ก็สามารถเริ่มต้นใช้ได้เลย โดยข้อดีของเครื่องฟิลฟิตนี้ จะบอกเราได้ว่าในแต่ละวัน เรานิ่งเฉยกี่นาที มีกิจกรรมทางกายแบบเบา ปานกลางและหนัก อย่างละกี่นาที

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เด็กไทย 1 ใน 5 มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วน เนื่องจากมีพฤติกรรมเนือยนิ่งประมาณร้อยละ 13.39 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการเนือยนิ่งติดต่อกันเกิน 2 ชั่วโมง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็น โรคอ้วน และในอนาคตจะนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือโรค NCD ดังนั้น หากทำตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือใน 1 สัปดาห์ ควรมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางอย่างน้อย 2 ชั่วโมงครึ่ง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง