หารือ "พื้นที่ปลอดภัย" ไร้ข้อสรุป-"มาราปาตานี" เสนอระงับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ภูมิภาค
23 พ.ย. 59
15:45
459
Logo Thai PBS
หารือ "พื้นที่ปลอดภัย" ไร้ข้อสรุป-"มาราปาตานี" เสนอระงับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
ตัวแทนคณะพูดเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทยและกลุ่มมาราปาตานียังไม่ได้ข้อสรุป ด้านมาราปาตานีเพิ่มข้อเสนอให้รัฐบาลไทยระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นความพยายามสร้างการยอมรับจากคนในพื้นที่

แหล่งข่าวจากที่ประชุมพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ตัวแทนคณะทำงานร่วม (Joint Working Group-Peace Dialogue Process/ JWG-PDP) ระดับคณะทำงานเทคนิคร่วม รับผิดชอบวางกรอบการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ได้มีการประชุมหารือกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย.2559 โดยฝ่ายมาราปาตานีได้เสนอให้กำหนดนิยามคำว่าพื้นที่ปลอดภัยให้กว้างกว่า การกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดอาวุธ ปลอดกองกำลัง และปลอดความรุนแรง แต่ให้มีความหมายครอบคลุมการบริหารจัดการพื้นที่ พร้อมทั้งให้มีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานจากต่างประเทศเข้าร่วมบริหารจัดการพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไทยยังมีการจัดทำข้อพิจารณาเพิ่มเติมเสนอให้ตัวแทนรัฐบาลไทยพิจารณาด้วย 3 ประเด็นคือ

1.เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาคุ้มครองความปลอดภัยแก่ตัวแทนฝ่ายผู้เห็นต่างที่จะเข้ามาร่วมทำพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยรับปากว่าจะใช้มาตรการในทางบริหาร ให้ความคุ้มครองความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้เข้ามาทำงานในพื้นที่ปลอดภัย


2.เสนอให้รัฐบาลไทยอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องหาบางคน (เพื่อแสดงความจริงใจ เช่นเดียวกับ การพักโทษดาโอ๊ะ ท่าน้ำ และสะมะแอ ท่าน้ำ) โดยฝ่ายผู้เห็นต่างเห็นว่าจะเป็นการส่งสัญญาณบวกและแสดงความจริงใจซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งประเด็นนี้ตัวแทนรัฐบาลไทยชี้แจงว่า ต้องเป็นไปตามระเบียบการพักโทษของกรมราชทัณฑ์ จึงขอให้ฝ่ายผู้เห็นต่างเสนอรายชื่อให้รัฐบาลไทยพิจารณาต่อไป

3.เสนอให้รัฐบาลไทยระงับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา รวมทั้งการทำเหมืองแร่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นนี้ตัวแทนรัฐบาลไทยชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวทุกโครงการอยู่ภายใต้กฎหมาย คือ ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตัวแทนฝ่ายผู้เห็นต่างได้ยอมรับหลักการตามที่ฝ่ายไทยเสนอ

สำหรับประเด็นข้อเสนอของฝ่ายผู้เห็นต่างเกี่ยวกับนิยามของพื้นที่ปลอดภัยและกระบวนการบริหารจัดการให้มีตัวแทนจากองค์กรต่างประเทศเข้าร่วมนั้น ตัวแทนรัฐบาลไทยไม่เห็นด้วย โดยอ้างถึงหลักอธิปไตย เพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของไทย

อย่างไรก็ตามตัวแทนรัฐบาลไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการให้พื้นที่ปลอดภัยมีความหมายครอบคลุมมิติการพัฒนาและกระบวนการยุติธรรมด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้พูดถึงว่าจะเริ่มที่พื้นที่ใดก่อน

สำหรับเหตุผลที่ฝ่ายผู้เห็นต่างเสนอข้อพิจารณาเพิ่มเติมให้ฝ่ายรัฐบาลไทยระงับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา นั้น นักสังเกตการณ์กระบวนการพูดคุยฯ ให้ความเห็นว่า เป็นความพยายามของกลุ่มมาราปาตานี ที่ต้องการแสดงความเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ อาจจะเรียกว่า การสร้างความสัมพันธ์ทางการเมือง (Political engagement) กับกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขา (มาราปาตานี) กำลังแสวงหาและเป็นสิ่งที่พวกเขาได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการเปิดตัวกับสื่อมวลชนไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2558

  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง