นักเศรษฐศาสตร์ประเมินน้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจภาคใต้ 85,000-120,000 ล้านบาท

ภัยพิบัติ
8 ม.ค. 60
20:23
1,051
Logo Thai PBS
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินน้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจภาคใต้ 85,000-120,000 ล้านบาท
นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิตเตือนผู้บริโภครับมือราคาอาหารทะเลแพง หลังน้ำท่วมภาคใต้ พร้อมประเมินกระทบเศรษฐกิจภาคใต้ทั้งระบบ 85,000-120,000 ล้านบาท

วันนี้ (8 ม.ค.2560) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภาคใต้ 10 จังหวัดว่า ปัญหาดังกล่าวกระทบพื้นที่เกษตรกว่า 900,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 240,000 ไร่, พืชไร่ 21,000 ไร่, พืชสวนและอื่นๆ 700,000 ไร่ ส่วนด้านประมงมีพื้นที่ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่คาดว่าจะได้รับความเสียหาย 27,000 ไร่, ด้านปศุสัตว์ มีสัตว์ได้รับผลกระทบกว่า 5,700,000 ตัว, แปลงหญ้า 1,400 ไร่, สัตว์ตายหรือ สูญหายอีกกว่า 52,000 ตัว ทำให้ต้องออกมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเบื้องต้นทั้งสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำ รถขุดกำจัดผักตบชวาเพื่อเปิดทางระบายน้ำ อพยพและแจกเสบียงสัตว์ พร้อมทั้งส่งถุงยังชีพเข้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบแล้ว ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้นำเฮลิคอปเตอร์ 5 ลำ เข้าประจำการในพื้นที่เพื่อขนส่งสิ่งของและเข้าช่วยเหลือตามคำร้องขอในพื้นที่ประสบอุทกภัยทันที

ขณะที่ ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โอกาสการลงทุน รายได้ประชาชน ธุรกิจท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 6,000-11,000 ล้านบาท และภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ทั้งระบบ 85,000-120,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.58-0.84 พร้อมเตือนผู้บริโภคเตรียมรับมือปัญหาราคาอาหารทะเลแพงขึ้น โดยเฉพาะราคากุ้ง เนื่องจากบ่อกุ้งได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยรุนแรง แต่ราคายางพารา และปาล์มน้ำมันอาจปรับสูงขึ้น ส่งผลดีต่อเกษตรกร และรัฐบาลควรออกมาตรการช่วยเหลือให้เปล่าจากงบกลาง 5,000-10,000 ล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ หากรัฐบาลสามารถฟื้นฟูให้กลับเป็นภาวะปกติโดยเร็ว ควบคู่ไปการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย อาจทำให้จีดีพีขยายตัวในระดับร้อยละ 3.6-4.2

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารเตรียมวงเงินออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย 500 ล้านบาท สำหรับลูกค้าธนาคารที่มีหลักประกันไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย 3 เดือนแรก จากนั้นจะลดดอกเบี้ย และค่างวดตามระยะเวลา พร้อมเตรียมวงเงินปล่อยกู้สำหรับสร้างบ้านใหม่ หรือซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย โดยคิดดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี นาน 3 เดือน ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง