กฎหมายใหม่เพิ่มโทษหนักคุ้มครอง "แรงงานเด็ก"

สังคม
12 ม.ค. 60
07:08
3,401
Logo Thai PBS
กฎหมายใหม่เพิ่มโทษหนักคุ้มครอง "แรงงานเด็ก"
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อเพิ่มอัตราโทษกรณีความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจการทำงานของเด็กในประเทศไทยปี 2558 พบว่ามีเด็กอายุ 5-17 ปี เข้าข่ายแรงงานเด็ก 312,675 คน ขณะที่ในปี 2559 พบการกระทำผิดและดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2541 จำนวน 71 คดี

สอดคล้องกับข้อมูลรายงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กของประเทศต่างๆ ปี 2559 โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาการใช้แรงงานเด็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงและภาคการเกษตร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายจึงมีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2541 เพิ่มอัตราโทษกรณีความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำผิดมากขึ้น

 

 

สำหรับ สาระสำคัญร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 148/1 ผู้ใดฝ่าฝืนจ้างแรงงานเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงานทั่วไป งานเกษตรกรรม จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานขนถ่ายสินค้าทางทะเล หรืองานประมงทะเล มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 148/2 ผู้ใดฝ่าฝืนจ้างให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานที่เป็นอันตราย เช่น งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ รวมถึงจ้างให้ทำงานในสถานที่ต้องห้าม เช่น ทำงานโรงฆ่าสัตว์ มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อลูก 1 หนึ่งคน จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากการจ้างงานดังกล่าวเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายใจ หรือถึงแก่ความตาย มีโทษปรับตั้งแต่ 800,000-2,000,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ล่าสุด ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้วและจะมีผลบังคับใช้ใน 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าว่า การเพิ่มอัตราโทษโดยเอาตัวเงินเป็นตัวตั้งอาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหา พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่าอาจไปเพิ่มการแสวงหาประโยชน์หรือการทุจริตมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีกำหนดในแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างชัดเจน และสนับสนุนสร้างเครือข่ายหรืออาสาสมัครที่ทำงานป้องกันปัญหานี้ ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่

ขณะที่ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบการใช้แรงงานที่มีทีมสหวิชาชีพหลายฝ่ายร่วมทำงานจะช่วยป้องกันปัญหาการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง