วันนี้(19 ม.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จ “ผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate3 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้ายในระยะยาว ด้วยเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 ซึ่งเป็นเครื่องที่ผ่านการรับรองให้ใช้สำหรับช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ โดยแพทย์จะผ่าตัดกลางหน้าอกและเชื่อมผู้ป่วยเข้ากับเครื่องหัวใจและปอดเทียม พร้อมฝังเครื่องดังกล่าวเข้าไปบริเวณหัวใจห้องซ้ายล่าง และนำสายควบคุมการทำงานและพลังงานออกมาทางผนังหน้าท้อง จากนั้นเชื่อมท่อเลือดออกจากเครื่องเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่เพื่อให้ระบบทำงาน
เครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 ทำจากวัสดุไทเทเนียม ไม่เกิดการต่อต้านของร่างกาย ทำหน้าที่ปั๊มเพิ่มแรงดันส่งเลือดให้ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีภาวะน้ำท่วมปอด หรือ ผู้ป่วยที่อาการหนักระหว่างรอผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ หรือ รักษาทุกวิธีแต่อาการไม่ดีขึ้น
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยหัวใจเทียมจะมีอุปกรณ์ 4 อย่างที่ต้องติดตัวไว้ตลอดเวลา ได้แก่ ตัวปั๊มเลือด สาย Griveline เพื่อเชื่อมต่อส่งข้อมูลและพลังงานไฟฟ้าระหว่างปั๊มภายในกับตัวควบคุมภายนอกตัวควบคุม และแบตเตอรี่ สำหรับเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate 3 มีราคาอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท อายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 10 ปี แต่ข้อจำกัดของเครื่อง ยังติดเรื่องความคล่องตัว เนื่องจากแบตเตอรี่มีอายุการใช้งาน 11 ชั่วโมงต่อวัน อนาคตอาจจะพัฒนาให้มีศักยภาพมากกว่านี้ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถจ่ายได้ คณะแพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากมูลนิธิรามาธิบดี
แท็กที่เกี่ยวข้อง: