วินัย บุญเปลื้อง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองไม่ได้ระวังอุบัติเหตุที่จะเกิดจากต้นไม้ล้ม แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ต้นไม้ล้มเกี่ยวเสาไฟฟ้าและทับผู้ขับขี่จักรยานยนต์เสียชีวิต ทำให้ตนเองระมัดระวังมากขึ้น และสังเกตต้นไม้ริมถนนว่า จะโน้มเอียงจนเสี่ยงโค่นล้มอีกหรือไม่
การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง ด้วยการตัดกิ่งที่ติดเสาไฟฟ้า หรือติดตัวอาคารอย่างไม่สมดุล เป็นอีกสาเหตุที่ผู้ชำนาญด้านการดูแลต้นไม้ สันนิษฐานว่า ทำให้ต้นไม้เอียงและเสียสมดุล
ธราดล ทันด่วน ผู้ชำนาญด้านการดูแลต้นไม้ กลุ่ม Urban Forestry บอกว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้าง หรือทางเท้าที่คลุมชิดถึงโคนต้น เป็นสาเหตุที่ทำให้รากแขนงต้นไม้เจริญเติบโตไม่เต็มที่ และไม่สามารถยึดเกาะ หรือค้ำยันเมื่อลมพัดแรง จึงโค่นล้มได้ง่าย ที่สำคัญต้นไม้เหล่านี้ไม่มีรากแก้ว เนื่องจากงอกลงไปในสภาพดินของกรุงเทพฯ ไม่ได้
ปัญหาต้นไม้โค่นล้มในช่วงหน้าฝน นอกจากจะเกิดกับต้นไม้ใหญ่อายุหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบันยังพบว่า ไม้ล้อม ที่ได้รับความนิยมซื้อไปปลูกประดับอาคารบ้านเรือนก็โค่นล้มได้ง่าย เนื่องจากถูกตัดรากแก้วเพื่อนำมาปลูกใหม่
น้อย ศรีเทพ เจ้าของร้านต้นไม้ จ.ปทุมธานี บอกว่าตนเองจะให้คำแนะนำกับผู้ปลูกว่าต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ และใช้ไม้ค้ำยันที่สูงและแข็งแรง เพื่อช่วยพยุงลำต้นนานกว่า 6 เดือน
ผลการสำรวจจากกลุ่ม Urban Forestry กรณีการปลูกต้นไม้และการจัดการต้นไม้เก่าจำนวนมากของกรุงเทพมหานคร พบว่า เจ้าหน้าที่ยังใช้วิธีที่ไม่เหมาะสม ซึ่งทุกฝ่ายควรร่วมกันสำรวจต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการโค่นล้ม เพื่อวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน