กางรายได้ "คนเฝ้าป่า" ในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก 31 ก.ค.

สิ่งแวดล้อม
31 ก.ค. 60
07:50
13,050
Logo Thai PBS
กางรายได้ "คนเฝ้าป่า" ในวันผู้พิทักษ์ป่าโลก 31 ก.ค.
วันที่ 31 ก.ค.ของทุกปีถือเป็นวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก ไทยมีคนเฝ้าป่ากว่า 15,000 ชีวิตกับภารกิจดูแลป่า 102 ล้านไร่ อาชีพเสี่ยงที่ต้องมีใจรักแต่รายได้เฉลี่ย 9,000 บาท

วันนี้ (31ก.ค.2560) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า 31 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก world ranger day วันระลึกถึงผู้พิทักษ์ป่าที่บาดเจ็บและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ร่วมเป็นกำลังใจให้ผู้พิทักษ์ป่า กลุ่มคนที่มีความเสียสละในการปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่คู่ไทย

วันผู้พิทักษ์ป่าโลก กำหนดขึ้นครั้งแรกในการประชุม World Congress Ranger ปี 2006 ที่สกอตแลนด์ ผู้เข้าร่วมประชุมจาก International Federation Ranger (IRF) หรือสมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่า ผู้เป็นกำลังสำคัญในการทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่คุ้มครองของโลก ได้ลงมติให้วันที่ 31 ก.ค.ของทุกปีเป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก เริ่มต้นในปี 2007 ในวันผู้พิทักษ์ป่าโลกครั้งแรกได้รวบรวมเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกแสดงเป็นภาพยนต์ในรอบปฐมทัศน์เรื่อง “The Thin Green Line” 

 

ผู้พิทักษ์ป่าโลก คำว่า “ranger” (เรนเจอร์) ในภาษาอังกฤษหมายถึงผู้คุ้มครองป่าของราชวงศ์อังกฤษ ในศตวรรษที่ 14 ทำหน้าที่ปกป้องที่ดินของกษัตริย์จากการล่าสัตว์ วันนี้ผู้พิทักษ์ป่าในพื้นที่คุ้มครองทั่วโลกได้ส่งต่อภารกิจในการปกป้องพื้นที่คุ้มครองสำหรับสาธารณะชนอย่างต่อเนื่อง ผู้พิทักษ์ป่าเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องทรัพยากรจากการรุกราน โดยการบังคับใช้กฎหมาย กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน, การดับไฟป่า, การดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย และงานด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

กางรายได้คนเฝ้าป่าไทย

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ศึกษาจากสถิติมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างปี 2557 -2559 พบว่า เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บสาหัส 14 ราย ได้รับบาดเจ็บ 25 ราย รวมทั้งหมด 75 ราย ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 พบว่า เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 3 ราย รวมทั้งหมด 5 ราย พร้อมมอบโล่เกียรติคุณและเงินช่วยเหลือญาติของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เสียและได้รับบาดเจ็บขณะที่ปฎิบัติหน้าที่ 13 ราย และมอบเงินเข้ากองทุนผู้ทักษ์ป่า 2 กองทุน คือกองทุนสงเคราะห์เจ้าหน้าที่ประสบภยันตรายในการปฎิบัติหน้าที่กรมอุทยาน และกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

ถือเป็นกองทุนหลักสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เช่น เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บจากการปฎิบัติหน้าที่ หรือทุพลภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำความดีและทำงานที่เสียสละนอกจากนี้ยังพบว่า ผู้พิทักษ์ป่ามีทั้งลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวในลักษณะพนักงานจ้างเหมา ต่อสัญญาปีต่อปี  ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้พิทักษ์ป่า เป็นพนักงานจ้างเหมามากถึงร้อยละ 92 จากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด มีรายได้เพียงเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งยังไม่มีความมั่นคง ส่วนลูกจ้างประจำมีรายได้ 9,400 – 21,010 บาทต่อเดือน และพนักงานราชการ รายได้ 11,280 – 24,930 บาทต่อเดือน

 

แม้ภารกิจของผู้พิทักษ์ป่าจะไม่แตกต่างกัน แต่การจ้างงานที่ต่างกันส่งผลต่อรายได้และความมั่นคง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงอันตรายในงานลาดตระเวนที่อาจต้องเผชิญเหตุปะทะได้ตลอดเวลา จึงเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งกองทุนของของมูลนิธิสืบนาคเสถียรที่ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2533 เพื่อช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่าเบื้องต้นในกรณีที่ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง