จับร้าน"เจาะลักยิ้ม" กลางตลาดนัดจตุจักร เสี่ยงปากเบี้ยว-ติดเชื้อ

สังคม
4 ส.ค. 60
23:01
43,826
Logo Thai PBS
จับร้าน"เจาะลักยิ้ม" กลางตลาดนัดจตุจักร เสี่ยงปากเบี้ยว-ติดเชื้อ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับตำรวจปคบ. และอย. จับกุมร้านแจ็ค ดอว์สัน ให้บริการเจาะลักยิ้ม ตลาดนัดกลางคืน จตุจักร โดยผู้ที่ให้บริการไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เตือนโอกาสปากเบี้ยว หน้าเบี้ยว หรือติดเชื้อโรค

วันนี้ (4 ส.ค.2560 ) น.พ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส.กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สบส.ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือบก.ปคบ. และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจสอบร้านแจ็ค ดอว์สัน (Jack Dorson) บริการรับเจาะร่างกาย ตั้งอยู่ในตลาดนัดกลางคืน เขตจตุจักร กทม.

 

 

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบร้านแห่งนี้ พบนายธนธัช กาลมหา อายุ 49 ปี เป็นผู้ให้บริการเจาะลักยิ้ม และเจ้าของกิจการ เปิดบริการในวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 19.30 – 01.30 น. ให้บริการทำลักยิ้ม เจาะ ขยาย กรีดหู ผ่าเนื้อนูน และขายยาชา ผู้รับบริการส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่ทราบข้อมูลจากสื่อโซเชียล โดยวิธีการเจาะลักยิ้มนั้น ผู้ให้บริการจะทายาชาบริเวณแก้มผู้รับบริการ จากนั้นจะให้อมแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อในปาก ก่อนลงเข็มเจาะแก้มทีละข้างทะลุเข้าไปในช่องปาก หลังจากนั้นจึงใส่จิวติดไว้ที่แก้มทั้งสองข้าง ประมาณ 1-2 เดือน จึงกลับมาถอดจิวออก

ชี้ อันตรายเสี่ยงปากเบี้ยว-ติดเชื้อ

น.พ.วิศิษฎ์ บอกว่า การใช้เข็มเจาะเข้าไปที่บริเวณแก้มเพื่อทำลักยิ้ม โดยบุคคลที่ไม่ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ถือว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะบนใบหน้าประกอบไปด้วยเส้นประสาท และกล้ามเนื้อจำนวนมาก หากผู้กระทำไม่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ปากเบี้ยว ใบหน้าผิดรูป และอาจเกิดการติดเชื้อที่บาดแผล จนแผลเน่า หรือติดโรคติดต่อจากเข็มที่ใช้เจาะได้

 

 

" การเจาะลักยิ้มด้วยวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำต่อมนุษย์ และเป็นการเสริมสวย ตามนิยามในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่จะต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากแพทยสภาเท่านั้น เบื้องต้นได้แจ้งข้อหาเจ้าของร้าน 2 ข้อหา คือประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2) จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง