"แรดสายพันธุ์เอเชีย" เสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ทั่วโลกเหลือไม่เกิน 30,000 ตัว

สิ่งแวดล้อม
22 ก.ย. 60
07:16
12,292
Logo Thai PBS
"แรดสายพันธุ์เอเชีย" เสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ทั่วโลกเหลือไม่เกิน 30,000 ตัว
แรดสายพันธุ์เอเชียเสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ทั่วโลกเหลือไม่เกิน 30,000 ตัว ขณะที่ประเทศไทยพบล่าสุดเมื่อปี 2540

วันที่ 22 ก.ย. ถือเป็น "วันอนุรักษ์แรดโลก" เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2553 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature-WWF) แห่งแอฟริกาใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการตระหนักถึงการลดจำนวนลงของแรดสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีสาเหตุหลักมาจากการลักลอบล่าของมนุษย์ เพื่อนำนอแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับหรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ โดยทั่วโลกได้ร่วมกันอนุรักษ์แรด 5 สายพันธุ์ ได้แก่ แรดขาว (White rhino) แรดดำ (Black rhino) แรดงาเดียว (Greater one-horned rhino) แรดสุมาตรา (Sumatran rhino) และ แรดชวา (Javan rhino)

“แรดชวา-แรดสุมาตรา” เสี่ยงสูญพันธุ์

ข้อมูลจาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ( WWF) ประเทศไทย เผยผลสำรวจประชากรแรดสิ้นปี 2015 ล่าสุด ดังนี้

1.แรดขาว (White rhino) จำนวนอยู่ระหว่าง 19,666 - 21,085 ตัว
2.แรดดำ (Black rhino) จำนวนอยู่ระหว่าง 5,040 - 5,458
3.แรดงาเดียว (Greater one-horned rhino) มากกว่า 3,500 ตัว
4.แรดสุมาตราหรือ กระซู่ (Sumatran rhino) ประมาณ 100 ตัว
5. แรดชวา (Javan rhino) 61-63 ตัว

รักษาโรคไม่ได้ กิน “นอแรด” เหมือนกินเล็บ

อย่างไรก็ตาม แรดในแอฟริกา ก็ยังคงเผชิญความยากลำบาก ด้วยความเชื่อว่า “นอแรด” มีคุณสมบัติด้านการบำรุงกำลัง หรือรักษาโรคต่างๆ รวมถึงเป็นเครื่องประดับที่แสดงถึงฐานะหรือวัตถุมงคลสำหรับป้องกันภัย ทำให้มีการล่าและค้านอแรดอย่างกว้างขวาง รวมถึงการฆ่าแรดเพื่อเอานอทั้งที่ในความจริงแล้วนอแรดเป็นเส้นใยเคราติน (Keratin) แบบเดียวกับผม และเล็บของคนเรา และไม่ได้มีผลต่อการบำรุงกำลังแต่อย่างใด

"เวียดนาม" แหล่งลักลอบค้านอแรดใหญ่สุด

ตลาดลักลอบค้านอแรดที่ใหญ่ที่สุด คือประเทศเวียดนาม ในแต่ละปีแรดแอฟริกาจำนวนมากต้องจบชีวิตลงเพื่อสังเวยความต้องการการบริโภคนอแรด มีรายงานว่า เมื่อปี 2012 จำนวนของแรดที่ถูกฆ่าในแอฟริกาใต้ สูงถึง 668 ตัว หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 2 ตัว ผลการประชุม CITES COP17 เมื่อปีก่อน ที่ประชุมได้มีมติกดดันให้ประเทศเวียดนามและประเทศโมซัมบิกหาหนทางหยุดยั้งการค้านอแรดอย่างผิดกฎหมายภายในเวลา 1 ปี มิฉะนั้นทางกลุ่มจะมีมาตรการลงโทษทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุมยังปฏิเสธคำขอเปิดตลาดการค้านอแรดของประเทศสวาซิแลนด์ด้วย
ในภูมิภาคอาเซียน WWF ประจำประเทศเวียดนาม ร่วมกับ TRAFFIC หรือเครือข่ายการสำรวจตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า ได้จัดทำแคมเปญเพื่อขอความร่วมมือจากรัฐบาลเวียดนามในการเพิ่มบทลงโทษ เพิ่มความเข้มงวดในการจับกุม และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจและลดความต้องการนอแรดลง

 

สำหรับประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความพยายามอย่างสูงที่จะควบคุม ตรวจตรา และจับกุมการค้าสัตว์ป่า และชิ้นส่วนของสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ตามจุดผ่านแดน รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งรวมถึงนอแรด งาช้าง ชิ้นส่วนเสือโคร่ง และตัวนิ่ม

"แรด-กระซู่" ในไทยไม่พบเห็นกว่า 30 ปี

ขณะที่ ในประเทศไทย แรดและกระซู่ ถูกจัดอันดับเป็น 1 ในบัญชีสัตว์สงวนของประเทศไทย โดยมีการพบเห็นครั้งล่าสุดเมื่อปี 2540 แต่การคงชื่อของสัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้ไว้ในบัญชีสัตว์สงวน ก็เพื่อการห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง ชิ้นส่วนของแรดและกระซู่

ก่อนหน้านี้ แรดและกระซู่ สามารถพบได้ในป่าทวีปเอเชียและแอฟริกา แต่ปัจจุบัน แรดสายพันธุ์ของเอเชีย ถูกจัดสถานะว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤต และมีการประมาณการจากนักอนุรักษ์ว่า จำนวนประชากรแรดในพื้นที่ป่าทั่วโลกเมื่อสิ้นปี 2015 เหลืออยู่ไม่ถึง 30,000 ตัว โดยเฉพาะแรดสายพันธุ์เอเชีย และกระซู่ ยังอยู่ในกลุ่ม Critically Endangered ของรายชื่อ IUCN และพบเห็นได้ยากมากแล้ว ขณะที่แรดสายพันธุ์แอฟริกา ได้รับการฟื้นฟูจำนวนประชากรอย่างประสบความสำเร็จ จนปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 20,000 ตัว และได้รับการเลื่อนอันดับสถานภาพจาก Endangered มาเป็น vulnerable

ตารางแสดงรายงานการจับกุมการค้านอแรดทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 8

 ข้อมูล : เครือข่ายการสำรวจตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) 

 

 #ขอให้แรดหนึ่งวัน #WorldRhinoDay #WWF

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง