วันนี้ (17 ต.ค.2560) น.ส.นฤมล กรคณิตนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทย ตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่ามีผู้ได้รับพิษจากแมงกะพรุนบริเวณชายหาดชะอำ จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจพื้นที่เกิดเหตุด้วยการ ลากอวนทับตลิ่งที่ระดับน้ำลึกประมาณ 0.8 - 1.0 เมตร ขนานชายฝั่งเป็นระยะทาง 100 เมตร พบตัวอ่อนแมงกะพรุนไฟ 1 ตัว และจากการเดินสำรวจบริเวณชายหาด พบแมงกะพรุนหนัง 4 ตัวและแมงกะพรุนลอดช่อง 6 ตัว

จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชะอำพบว่า ผู้ป่วยเป็นเด็กชาย อายุ 5 ปี สัญชาติไทย ได้รับพิษแมงกะพรุนบริเวณขาทั้งสองข้าง ลักษณะเป็นรอยไหม้ ผื่นแดงเป็นปื้นและมีอาการปวดที่แผล จึงปฐมพยาบาล เบื้องต้นด้วยการราดน้ำส้มสายชู ก่อนส่งตัวผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลชะอำ
น.ส.นฤมล ยังแนะวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุน โดยให้ผู้บาดเจ็บอยู่นิ่งๆ เพื่อ ลดการยิงพิษจากแมงกะพรุน ห้ามขัดถูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน ควรสังเกตประเมินอาการผู้ได้รับพิษตลอดเวลา หากหมดสติ ไม่หายใจหรือไม่มีชีพจร ให้ทำการปั้มหัวใจทันที จากนั้นล้างบริเวณที่ถูกพิษด้วยน้ำส้มสายชูนานอย่างน้อย 30 วินาที หากไม่มีให้ใช้น้ำทะเล นอกจากนี้ต้องคีบหนวดที่ติดอยู่โดยห้ามใช้มือหยิบ และให้ใช้วัสดุขอบเรียบ เช่น เปลือกหอย บัตร หรือสันมีด ขูดเอาเมือกที่เหลืออยู่ออกและใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการปวด หลังจากที่ล้างด้วยน้ำส้มสายชูแล้วให้ใช้ผักบุ้งทะเลตำพอกที่แผลและรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
สำหรับข้อควรระวัง ห้ามใช้น้ำจืดล้างแผลเมื่อได้รับพิษ เนื่องจากจะกระตุ้นเข็มพิษให้ทำงานมากขึ้น นอกจากนี้การใช้แอมโมเนียล้างแผลจะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น ห้ามถูหรือขยี้แผลเพราะจะทำให้พิษของแมงกะพรุนกระจายออกไปไวขึ้น ซึ่งก่อนจะลงเล่นน้ำทะเลจึงควรสำรวจพื้นที่ว่าปลอดภัยสำหรับการเล่นน้ำหรือไม่ หากพบเห็นวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายปลาหมึก หรือแมงกะพรุน ไม่ควรไปหยิบหรือเข้าใกล้และให้รีบขึ้นจากน้ำทันที

ทั้งนี้ แมงกะพรุนเป็นสัตว์ประเภทไม่มีกระดูกสันหลัง โดยทั่วไปลำตัวมีลักษณะคล้ายร่มหรือดอกเห็ด บางชนิดคล้าย ระฆัง ด้านหลังโค้ง อาจมีสีหรือไม่มีสี ด้านท้องมีหนวดที่มีขนาดสั้นหรือยาวและรูปแบบแตกต่างกันตามชนิด แมงกะพรุนทุกชนิดที่หนวดและลำตัวจะมีเซลล์เข็ม ภายในเซลล์มีถุงพิษที่ใช้ในการป้องกันตัวและล่าเหยื่อ โดยแต่ละชนิดมีความรุนแรงของพิษแตกต่างกันและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ไปพักผ่อนและลงเล่นน้ำ ทะเล หรือชาวประมงน้ำตื้นและลูกเรือประมง
