"ขนส่งทางบก" เพิ่มโรคลมชัก-ผ่าสมอง-หัวใจ ห้ามขับขี่รถ

สังคม
5 ธ.ค. 60
11:49
3,052
Logo Thai PBS
"ขนส่งทางบก" เพิ่มโรคลมชัก-ผ่าสมอง-หัวใจ ห้ามขับขี่รถ
กรมขนส่งทางบก เตรียมแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อกำหนดเงื่อนไขการขอใบอนุญาตขับขี่ โดยเพิ่ม 5 กลุ่มโรคที่เสี่ยงจะเกิดอันตรายในการขับขี่รถยนต์ รวมโรคลมชัก-ผ่าตัดสมอง-หัวใจ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ คาดอย่างช้าเดือนก.พ.ปี 61 บังคับใช้

วานนี้ (4 ธ.ค.2560) นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงอุุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในจังหวัดชลบุรี ที่คนขับรถระบุว่าตัวเองเป็นโรคลมชักว่า นายอัครเดช อุดมรัตน์ มีใบอนุญาตขับรถ แบบตลอดชีพ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อหาหลักฐาน หากภายหลังแพทย์พิสูจน์ทราบ และมีหลักฐานว่าผู้ขับขี่รถกระบะคันดังกล่าว เป็นโรคลมชักจริง กรมขนส่งบกจะเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ทันที เพราะเป็นบุคคลที่มีสภาพร่างกายไม่พร้อมในการขับขี่

ด้านนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้กรมขนส่งทางบก กำลังดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อกำหนดเงื่อนไขการขอใบอนุญาตขับขี่ ให้เพิ่มกลุ่มโรคที่เสี่ยงจะเกิดอันตรายในการขับขี่ เบื้องต้นได้ข้อสรุปแล้วว่ามีทั้งหมด 5 กลุ่มโรค

ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มโรคและอาการนี้ มาจากการหารือร่วมกันของกรมขนส่งทางบกกับแพทยสภา ได้แก่ 1.โรคลมชัก 2.เบาหวานร้ายแรง 3.ความดันโลหิตสูง 4.ผู้ที่เคยผ่าตัดสมองมาก่อน5.โรคหัวใจ ที่เสี่ยงจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด ทั้งนี้ คาดว่าใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน หรือช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ปี 61 จะออกมาบังคับใช้ได้ และคงไม่มีแก้ไขอีกแล้วในส่วนของ 5 กลุ่มโรคนี้ เพราะเราหารือกันมาหลายรอบแล้ว

นายกมล กล่าวว่า สำหรับ 5 กลุ่มโรคนี้ซึ่งบางส่วนไม่ได้เป็นโรคแต่เป็นอาการ จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดด้วยว่า เป็นขนาดไหน เช่นเบาหวานร้ายแรง แค่ไหน ความดันเท่าไร รายละเอียดเหล่านี้ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งทางแพทยสภาจะเป็นผู้ดำเนินการ 

ทั้งนี้ในการขอใบอนุญาตขับขี่ที่ผ่านมาจะมีการห้ามเฉพาะ 5 โรค คือ 1.เท้าช้าง 2.วัณโรค 3.เรื้อน 4.พิษสุราเรื้อรัง 5.ติดยาเสพติดให้โทษ จึงจะมีการแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มเติมอีก 5 กลุ่มโรคที่เป็นอันตรายต่อการขับขี่เข้าไป

 

แพทย์ระบุไทยป่วยโรคลมชัก 6-7 แสนราย

ก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรค เคยระบุโรคและปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุไว้ 9 โรค ได้แก่ 1.โรคที่เกี่ยวกับสายตาต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม 2.โรคทางสมอง 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4. โรคพาร์กินสัน 5.โรคลมชัก 6.โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่างๆ 7.โรคหัวใจ 8.โรคเบาหวาน 9. การกินยา ซึ่งบางคนกินยาหลายชนิด บางชนิดมีผลทำให้ง่วงซึม หรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ

ด้านนพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในสมอง กรรมพันธุ์ หรือเนื้องอกในสมอง ที่ส่งผลให้สมองผิดปกติ โดยจะมีอาการชักอยู่สองแบบคือ ชักกระตุก ชักเกร็ง หรือนิ่ง เหม่อลอย ซึ่งสถิติขณะนี้คาดว่ามีคนไทยเป็นโรคลมชัก 600,000-700,000 คน ซึ่งถ้าเข้าพบแพทย์รักษาอาการ ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้

โดยจะเป็นอันตรายเมื่อขาดยา และไม่ควรทำงานที่ต้องบังคับเครื่องจักร ขับรถยนต์ เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นด้วย ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามผู้ป่วยโรคลมชักขับยนต์หรือมีใบขับขี่ แต่สถาบันประสาทวิท ยาพยายามหารือกับกรมการขนส่งเพื่อให้ออกเป็นกฎหมายว่า ผู้ป่วยลมชักที่ไม่มีอาการมาแล้ว 6 เดือน-1 ปี เท่านั้นจะสามารถทำใบขับขี่ได้แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือกันอยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง