เปิดวิธีคำนวณค่าชีวิต "เสือดำ"มูลค่า 3 ล้านถูกสังหาร

สิ่งแวดล้อม
22 มี.ค. 61
18:05
3,061
Logo Thai PBS
เปิดวิธีคำนวณค่าชีวิต "เสือดำ"มูลค่า 3 ล้านถูกสังหาร
กรมอุทยานแห่งชาติ สรุปอัตราคำนวนค่าชีวิตเสือดำ 1 ตัว ที่ถูกสังหารในป่าทุ่งใหญ่คดีนายเปรมชัย และพวกรวม 3 ล้านบาทเศษ ส่วนไก่ฟ้าหลังเทา มีมูลค่า 22,612 บาท รวมค่าเสียหายทางแพ่ง 3,034,612 บาท นักวิจัย ระบุป่าไทยมีเสือดาว -ดำแค่ 129 ตัวเตรียมทำรหัส ตั้งชื่อ

วันนี้ (22 มี.ค.2561) จากกรณีที่อัยการให้เพิ่มการประเมินค่าเสียหายทางแพ่งต่อระบบนิเวศในคดีล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี กับคณะของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเว๊ลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)และพวกรวม 4 คน เบื้องต้นกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประเมินค่าเสียหายทางแพ่งไว้ จำนวน 3,034,612 บาท

ข้อมูลจากการประเมินครั้งนี้ระบุว่าเสือดำที่ถูกฆ่า 1 ตัวอายุประมาณ 5 ปีเป็นเสือดำ ชนิดย่อยเสือดำอินโดจีน เป็นสัตว์ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีสถานภาพทางกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ลำดับ182 ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และเป็นสัตว์ป่าบัญชีหมาย เลข 1 ของอนุสัญญาไซเตส คิดค่าเสียหายตัวละ 3,012,000 บาท

โดยแยกการประเมินราคาได้ดังนี้
1.ราคาเสือดำ ในกรงเลี้ยง 1 ตัว ราคา 462,000 บาท อ้างอิงเปรียบเทียบราคา กับราคาเสือดำที่สวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจัดซื้อเมื่อ พ.ศ.2549

2.ราคาค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพื่อนำเสือดำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 1 โครงการเพื่อนำเสือดำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 1 โครงการ (ได้ผลผลิตปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไม่น้อยกว่า 2 ตัว) ปีละ 1,1,00,000 บาทจำนวน 5 ปีเฉลี่ยค่าใช้จ่าย 1 ตัวเท่ากับ 550,000บาท x 5 ปีรวม 2,550,000 บาท อ้างอิงเปรียบเทียบราคากับโครงการเพาะพันธุ์ และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่ง เพื่อคืนสู่ถิ่นกำเนิดในธรรมชาติบริเวณกลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าอนุรักษ์อื่นๆประจำปีงบประมาณ 2558 ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง

 

 

ส่วนไก่ฟ้าหลังเทา 1 ตัวเป็นตัวเต็มวัย สถานภาพทางกฎหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองพวกนก ลำดับที่ 6 และเป็นชนิดที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ ได้ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535 คิดค่าเสียหายตัวละ 22,612 บาท

โดยแยกออกเป็นดังนี้  1.ราคาไก่ฟ้าหลังเทาในกรงเลี้ยง 10,000 บาท และ 2.ราคาค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพื่อนำไก่ฟ้าปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 1 โครงการได้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 100 ตัว เฉลี่ยตัวละ 6,356 บาทอ้างอิงเปรียบเทียบราคากับโครงการเพาะและขยายพันธุ์และปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติปีงบ 2558 ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง จ.เชียงราย

การประเมินครั้งนี้คิดตามมาตรา 57 ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประกาใด โดยมิชิบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นของรัฐหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหายหรือเสยหายไป

 

เตรียมทำรหัสและตั้งชื่อเสือดาว-เสือดำ 

ทั้งนี้เมื่อวันที่  19 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานอัยการสั่งให้ตำรวจสอบสวนในประเด็นการสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ที่เข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี เบื้องต้นสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ประเมินความเสียหายไว้ที่ 3 ล้านบาทเศษ และให้นายเปรมชัยรับทราบแล้ว แต่ยังให้การปฏิเสธ

ขณะนี้ ทีมวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ  นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ ห้วหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำกล่าวว่า  เสือดาว-เสือดำในป่าไทยคาดว่ามีประมาณ 129 ตัว ในอนาคตนักวิจัยวางแผนที่ทำรหัสให้กับเสือดาว เสือดำทั้งหมด และตั้งชื่อเสือทุกตัว แบบเดียวกับที่ตั้งชื่อเสือโคร่งทุกตัวในป่าห้วยขาแข้ง เพื่อใช้ในการติดตามวิจัยต่อกลุ่มครอบครัวของเสือดาวในป่าไทย และยังมีแผนที่จะศึกษาการปฎิสัมพันธ์ระหว่างเสือโคร่งกับเสือดาว ในพื้นที่เดียวกันว่ามีการแก่งแย่งพื้นที่กันหรือไม่

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

จ่อฟ้องแพ่ง "เปรมชัย" 3 ล้านบาทค่าเสียหายระบบนิเวศ

ชวนดู “เสือดำ” แสดงอาณาเขตตัวเอง 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง