สจล.โชว์ “แนลชั่นแนล จีพีเอส” ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

สังคม
25 มี.ค. 61
18:47
274
Logo Thai PBS
สจล.โชว์ “แนลชั่นแนล จีพีเอส” ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพัฒนากรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศสู่การเป็นนครอัจฉริยะ (Smart City) ที่สมบูรณ์แบบ เปิดตัวระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ด้วยเทคโนโลยี Global Positioning System: GPS เพื่อเก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ อาทิ ตำแหน่ง ทิศทางการเดินทาง และความเร็ว นำมาวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน เตรียมพัฒนาระบบให้สามารถแจ้งเตือนการกระทำผิดได้อัตโนมัติ (Active System) และจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการการเดินรถด้วย GPS ในส่วนภูมิภาค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งการพัฒนาระบบแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลล่วงหน้าเมื่อมีการเข้าพื้นที่เสี่ยง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามความร่วมมือพัฒนาสมาร์ทซิตี้กับสถาบันพระปกเกล้า ด้วยการใช้ระบบบริหารจัดการอัจฉริยะ เป็นการผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมขั้นสูงจาก สจล. นำร่อง 6 เมืองทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1. เทศบาลนครนนทบุรี ด้าน Smart Tourism และ Smart Governance 2. เทศบาลนครภูเก็ต ด้าน Smart International Destination 3. เทศบาลนครยะลา ด้าน Smart Security and Surveillance 4. เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ด้าน Smart Compact City 5. เทศบาลเมืองลำพูน ด้าน Smart Tourism และ 6. เทศบาลนครอุดรธานี ด้าน Smart Data Driven City

 

 

ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา สถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจจริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ได้เร่งดำเนินการพัฒนาโมเดลการยกระดับ กรุงเทพฯ และมีแผนขยายไปสู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพและความสุข และเป็น Smart People ภายใต้การศึกษาวิจัยพัฒนาและปรับปรุงระบบต่างๆ อย่างน้อย 6 ด้าน ได้แก่ Smart Living – ระบบการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอัจฉริยะ, Smart Utility – ระบบสาธารณูปการอัจฉริยะ, Smart Environment – ระบบสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ, Smart Economy – ระบบเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะ, Smart IT – ระบบสารสนเทศอัจฉริยะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Smart Mobility - ระบบการขนส่งอัจฉริยะ หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วประเทศ เพราะอุบัติเหตุทางถนนไม่เพียงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต แต่ยังทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

 

แนวโน้มไทยขยับครองแชมป์อุบัติเหตุของโลก


ด้าน รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากรายงานตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนไทยขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่ามีอัตราส่วนผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เท่ากับ 36.2 คนต่อประชากร 1 แสนคน สะท้อนว่าหากไม่เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขหรือลดสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่มีการเดินทางออกต่างจังหวัดหนาแน่น เช่น เทศกาลสงกรานต์ในปี 2560 ที่ผ่านมา ตลอด 7 วันอันตราย มีผู้สังเวยชีวิตสูงถึง 390 ราย เกิดอุบัติเหตุรวมกว่า 3,650 ครั้ง

ศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะจึงร่วมกับกรมการขนส่งทางบก พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ด้วยเทคโนโลยี Global Positioning System: GPS ในการเก็บข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมการขับขี่ เช่น ตำแหน่ง ทิศทางการเดินทาง และความเร็ว เป็นต้น นำมาวิเคราะห์เชิงลึกและช่วยควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยผู้ใช้รถใช้ถนน เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการการเดินรถด้วยระบบ GPS กรมขนส่งทางบก ในรถขนส่งสาธารณะและรถบรรทุกตามประกาศ ตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดมีรถที่ดำเนินการติดตั้งแล้วทั้งสิ้น 271,301 คัน ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น DLT - GPS ให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบเส้นทางและร้องเรียนปัญหาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 


รศ.ดร.เอกชัย ย้ำว่า ผลสำเร็จจากการดำเนินการในระยะที่ผ่านมา ซึ่งคณะผู้วิจัยและพัฒนาระบบสามารถตรวจสอบการกระทำความผิด ทั้งการขับรถเร็วเกินกำหนด การไม่แสดงตัวผู้ขับขี่ การขับรถเกินเวลาที่กำหนด เพื่อบริหารจัดการความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว ขณะเดียวกันในด้านโลจิสติกส์ยังทำให้ทราบข้อมูลรูปแบบและเส้นทางการขนส่ง รวมไปถึงจุดจอดพักรถตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้ทราบปริมาณความหนาแน่นของยานพาหนะ นำมาบริหารจัดการระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่วนแผนการพัฒนาระบบในระยะต่อไปนั้นจะพัฒนาระบบให้สามารถแจ้งเตือนการกระทำผิดได้อัตโนมัติ (Active System) และมีการบูรณาการข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งการพัฒนาระบบแจ้งเตือนหรือให้ข้อมูลล่วงหน้าเมื่อมีการเข้าพื้นที่เสี่ยง

"ระบบที่ใช้กำกับดูแลจากข้อมูลจีพีเอสของรถขนส่งมวลชน รถบรรทุกทั่วประเทศ ขณะนี้มีข้อมูล 290,000 คัน โดยส่งเข้ามาในรูปแบบเรียลไทม์ พร้อมประมวลผลการขับขี่เร็วเกินกำหนด หรือคนขับรถเกินชั่วโมงการทำงาน ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ โดยใส่เลขทะเบียนรถเพื่อแสดงสถิติความเร็วของการขับรถที่ผ่านมา อีกทั้งสามารถรายงานพฤติกรรมของคนขับรถได้"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เส้นทาง "รถทัวร์ 2 ชั้น" เสี่ยงอุบัติเหตุ

8 ถนนท้าพายุ รถโดยสารแชมป์ “เดอะฟาสไทยแลนด์” 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง