หลังกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เรียกร้องให้กองทัพแยกตัวออกจาก คสช. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจเพื่อประชาชนและบ้านเมือง โดยปราศจากการเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด แต่ในความเป็นจริง การเมืองและการบริหารโดยรัฐบาลทหาร ไม่ใช่แค่สายสัมพันธ์ในตัวบุคลากร ที่ยึดโยงอยู่คำว่า เพื่อน-พ้อง-น้อง-พี่ หรือคำจำกัดความของคำว่า นายกับลูกน้อง
รศ.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ระหว่างรัฐบาล คสช. และ กองทัพ ยังผูกติดกันด้วยโครงสร้างองค์กรและงานบริหารบุคคล ทำให้กองทัพมีเอกภาพมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ แต่ย้ำไม่ใช่เนื้อเดียวกันทางการเมือง เพราะมีบทบาทและหน้าที่ต่างกัน ขณะเดียวกัน รัฐบาล คสช. และกองทัพ จำเป็นต้องเดินหน้าภารกิจด้านความมั่นคงอย่างเป็นเอกภาพ พร้อมกำชับให้ทุกฝ่าย ยึดกฎกติกา ไม่ละเมิดกฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อย
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า กลไกปฏิบัติหลักของ คสช. หรือของรัฐบาล หรือของกองทัพ ยังเชื่อมต่อไว้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอณาจักร (กอ.รมน.) แล้ว ยังมีโครงสร้างอื่นๆ ที่เชื่อมถึงกันอีกด้วย เช่น คณะกรรมกาารยุทธศาสตร์ชาติ ที่กองทัพยังเชื่อมถึงฝ่ายบริหารได้ หรือแม้แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ คสช. เชื่อมถึงวุฒิสภา ผ่านการคัดเลือกสมาชิก 250 คน ซึ่งก็เป็นไปตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับปัจจุบันที่บังคับใช้อยู่