ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ล้วงลึกดีเอสไอ สอบคดีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร

สิ่งแวดล้อม
10 เม.ย. 61
18:39
2,362
Logo Thai PBS
ล้วงลึกดีเอสไอ สอบคดีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร
หัวหน้าชุดสอบสวนดีเอสไอ คดีเหมืองแร่ทองคำ เผย บ.อัคราฯ ไม่ชี้แจง 3 ข้อกล่าวหา แต่กลับทำหนังสือร้องเรียนคณะกรรมการสอบสวนไม่เป็นกลาง โดนแทรกแซงคดีเป็นระยะ ส่วนการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลไทย-คิงส์เกต จนท.รวบข้อมูลส่งบ้างแล้ว ด้าน บ.อัคราฯ ยังนิ่งเงียบ ไร้คำตอบ

นายพิเชฏฐ์ ทองศรีนุ่น หัวหน้าพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษไทยพีบีเอส หลังจากลุ่มประชาชนรอบพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก รวมถึงตัวแทนกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ เดินหน้าไปยื่นหนังสือเมื่อวานนี้ ที่ดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร เพื่อขอติดตามคดีที่เคยยื่นร้องเรียนเมื่อปี 2557 และต่อเนื่องปี 2558

นายพิเชฏฐ์ ระบุว่า ขณะนี้แจ้งข้อกล่าวหา บริษัทอัครา รีซอร์เซส ในนามนิติบุคคล ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำรายใหญ่ของไทย มีพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก อย่างน้อย 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 1.ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบทับพื้นที่ป่า 2.รุกล้ำเขตทางหลวงแผ่นดิน เป็นความผิดพระราชบัญญัติทางหลวง ปี 2535 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และ 3.บุกรุก ยึดถือ ครอบครองพื้นที่ป่าไม้ถาวรโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 โดยเชิญบริษัทให้มาชี้แจงภายใน 15 มกราคม 2561 แต่บริษัทขอเลื่อนเป็น 19 กุมภาพันธ์ 2561 ทางพนักงานสอบสวนให้สิทธิ์เลื่อนตามที่บริษัทแจ้ง และเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ บริษัทแจ้งว่าจะส่งเอกสารให้ภายใน 21 มีนาคม 2561 แต่ปรากฎว่าวันนั้น บริษัทขอเลื่อนส่งเอกสารพร้อมกับคำให้การอีกเป็นวันที่ 26 มีนาคม 2561 ซึ่งเอกสารที่ส่งมา ไม่ใช่เอกสารการชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา แต่กลายเป็นเรื่องร้องเรียนตัวพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ

 

 

หัวหน้าชุดสอบสวนคดีเหมืองแร่ทองคำ ยืนยันว่า รับคดีเหมืองทองคำเป็นคดีพิเศษตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ไม่ใช่มารับช่วงนี้ในระหว่างที่เกิดคดีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ผู้ถือหุ้นบริษัทอัคราฯ ตามที่หลายคนเข้าใจผิด

 

การสอบสวนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงและพิจารณาหลักฐานแล้ว ดีเอสไอจำเป็นต้องแจ้งข้อกล่าวหาบริษัทในนามนิติบุคคล แต่หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่จะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด เป็นความผิดส่วนบุคคลมาเพิ่มเติมไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม ถ้าการตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องถึง 10 คน ก็จะเรียกทั้ง 10 คนรับทราบข้อกล่าวหา ดีเอสไอยืนยันว่า เราทำงานตรงไปตรงมา โดยเฉพาะชุดสอบสวน เราจะทำงานกันอย่างเคร่งครัดมากขึ้นเพื่อให้ทุกคนทำตามกฎหมาย

 

 

สำหรับการตรวจสอบคดีร้องเรียนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่จะแยกประเด็นสอบต่างหาก เพราะมีรายละเอียดเกี่ยวข้องมาก และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องมีขนาดกว้างกว่า 4,000 ไร่ แต่เจ้าหน้าที่ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาช่วยบินสำรวจตรวจสอบด้วย



วันนี้ถ้าทุกคนทำตามกฎหมาย พวกผมไม่ลำบาก พวกผมมีจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เคยก้มหัวให้คนที่อยู่เหนือกฎหมาย พนักงานสอบสวนไม่เคยกลัวอิทธิพล และขอให้ช่วยกันตรวจสอบว่ามีใครเข้ามาแทรกแซงในการทำคดีนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีความพยายามของบุคคลที่เข้ามาแทรกแซงและลงพื้นที่ไปสอบถามขอเอกสาร หรือข้อมูลกับคนในพื้นที่

นอกจากแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อแล้ว ยังมีประเด็นที่ดีเอสไอ อยู่ระหว่างสอบสวน เช่น การระเบิดของเหมืองทอง, ค่าภาคหลวง ส่วนคดีที่มีข้าราชการไทยและเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง เป็นฐานความผิดปกครอง ทางดีเอสไอ จะรวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งให้ฝ่ายเกี่ยวข้อง และส่งให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกช่องทางหนึ่ง เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการ, การก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประทานบัตร หรือ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ), การก่อสร้างหรือขยายโรงประกอบโลหะกรรม เป็นต้น โดยภาพรวมคดีเหมืองแร่ทองคำขณะนี้ ดีเอสไอส่งให้รัฐบาลแล้ว และจะรวบรวมส่งให้รัฐบาลอีกรอบไม่เกินเดือนมิถุนายน 2561 โดยคาดว่ากระบวนการสอบสวนทั้งหมดจะแล้วเสร็จสิงหาคม 2561

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การร้องเรียนคดีเหมืองแร่ทองคำ กลุ่มชาวบ้านขอให้ดีเอสไอ และ ป.ป.ช.สอบสวนตั้งแต่ปี 2558 และนำไปสู่คำสั่ง มาตรา 44 เพื่อระงับนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ มีผลด้วย ตั้งแต่ต้นปี 2560 เพื่อรอให้การตรวจสอบต่างๆ เกิดความชัดเจนในประเด็นด้านปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบก่อนเกิดปัญหาข้อพิพาทฟ้องร้องในชั้นอนุญาโตตุลาการขณะนี้

การยื่นเรื่องให้ตรวจสอบ มีรวม 9 ประเด็นหลักที่พิจารณาว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำผิดกฎหมายหรือไม่ ได้แก่


1. การทำเหมืองในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ได้ขอประทานบัตร เช่น ทางสาธารณะ
2. การย้ายบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 2
3. การประกอบโรงงานประกอบโลหะกรรม
4. การออกเอกสารสิทธิในที่ดิน
5. การเปลี่ยนแปลงผังโครงการทำเหมืองแร่
6. การเป็นนอมินีต่างชาติในการถือครองที่ดินและทำเหมืองแร่
7. การหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัท และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
8. การฟอกเงินในการทำธุรกิจเหมืองทองคำ
9. การฉ้อโกงฉ้อฉลต่อสถาบันทางการเงิน ตลาดหลักทรัพย์
 
นอกจากนี้ ยังขอให้ดีเอสไอดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายแก่ประเทศไทย 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ค่าเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่าไม้ 2.ค่าเสียหายต่อทางสาธารณะ และ 3. ค่าเสียหายต่อสินแร่ทองคำและแร่เงินของประเทศที่ทำเหมืองในเขตพื้นที่ไม่ได้ขอประทานบัตร โดยขอให้ดีเอสไอ ดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีปกครอง

 

 

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปที่บริษัทอัครา รีซอร์สเซส หลังจากดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหา แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอยู่ระหว่างการขอดูข้อมูล แต่ยังไม่มีการชี้แจงใดๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาคประชาชน ทวงถามความคืบหน้าคดีเหมืองทอง

ภาคประชาชนเรียกร้องนายกฯ ไม่ต่อใบอนุญาตเหมืองทอง จ.พิจิตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง