The EXIT : สวยเสี่ยง “ไซบูทรามีน”

สังคม
19 พ.ค. 61
15:45
938
Logo Thai PBS
The EXIT : สวยเสี่ยง “ไซบูทรามีน”
ผลตรวจของแพทย์พบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอย่างน้อย 2 ชนิด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน อย.ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยี่ห้อลีน ผสมสารไซบูทรามีนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเสี่ยงอันตราย จึงอยู่ในเป้าหมายเปิดปฎิบัติการทลายแหล่งผลิต

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมความงามที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัจจุบันถูกพบมากขึ้นตามข้อมูลขององค์การอาหารและยา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ การนำสารไซบูทรามีน ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์ แม้ว่าจะเป็นสารต้องห้ามและถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2553 เพราะผลพิสูจน์ยืนยันว่าทำให้หัวใจเต้นเร็วและมีผู้เสียชีวิต

รายงานผู้เสียชีวิตจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เพื่อลดน้ำหนัก แล้วต่อมาเสียชีวิตในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีดังนี้

- รายที่ 1 หญิงอายุ 31 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ในเขตเมืองกาญจนบุรี กินยาเป็นเวลา 30 วัน แพทย์ให้ความเห็นเบื้องต้นว่าหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

- รายที่ 2 ชายอายุ 33 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 กินยา 10 วัน พบว่าไขมันเส้นเลือดอุดตันและช็อกหมดสติ

- รายที่ 3 ชายอายุ 48 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 กินยามา 1 เดือนเศษ แพทย์ให้ความเห็นว่าหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

- รายที่ 4 เสียชีวิตวันที่ 28 เมษายน

กรณีของผู้บริโภคชาวจังหวัดปทุมธานี ที่หัวใจล้มเหลวจากผลแทรกซ้อนของยาไซบูทรามีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ "ลีน"

ล่าสุด ญาติผู้เสียชีวิตได้นำผลตรวจของสถาบันนิติเวชวิทยาศาสตร์ เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อดำเนินการเอาผิดกับผู้ประกอบการ พร้อมเรียกร้องเงินเยียวยาครอบครัว

ปัจจุบันสารตั้งต้นไซบูทรามีน ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายยี่ห้อ ซึ่งผลกระทบของยาชนิดนี้ ทำให้เกิดภาวะไตวาย ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดตีบตัน และอาจทำให้ถึงกับเสียชีวิต

ในปี 2553 ประเทศในยุโรปประกาศยกเลิกไม่ให้ใช้ยาดังกล่าว รวมถึงประเทศไทย พร้อมเรียกเก็บยาที่มีสารไซบูทรามีนออกจากท้องตลาด และ ยกเลิกทะเบียนยาไซบูทรามีน

การพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ที่ผู้ผลิตจงใจหลีกเลี่ยงและแอบใส่ในผลิตภัณฑ์ เพื่อหวังกำไรทางการค้า แต่ไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของผู้บริโภคในภายหลัง

การลักลอบนำตัวสารชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศ ตามข้อมูลขององค์การอาหารและยา ระบุว่าต้นทางส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน การแอบลักลอบนำเข้ามาในประเทศ ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางธรรมชาติ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นของบุคคลกลุ่มไหน

สารไซบูทรามีน มีลักษณะเป็นผงขาวคล้ายเกลือหรือน้ำตาล ไม่มีกลิ่น ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้บริโภคลดความอยากอาหารและรู้สึกอิ่มเร็ว

ในปี 2540 องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้จัดสารไซบูทรามีน เป็นยาที่ได้รับการควบคุมดูแลเป็นพิเศษ และแพทย์ต้องเป็นผู้พิจารณาในการใช้ยาเท่านั้น

สำหรับในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกเลิกสารดังกล่าวในทะเบียนตำรับยา และกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และขายได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น

แต่เมื่อปี 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันตราย 20 ยี่ห้อ พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความอันตรายของสารไซบูทรามีน แสดงออกผ่านผลข้างเคียงของผู้บริโภค โดยจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ มีอาการใจสั่น ความดันโลหิตสูงกล้ามเนื้อกระตุก รวมไปถึงสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า กังวล หวาดระแวง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

ข้อมูลจากสถิติการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย ระหว่างปี 2558 -2560

: ปี 2560 ผู้ขอจด อย.อาหาร ลดน้อยลงถึง 30,000 รายการ แต่พบมากขึ้นในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางถึง 10,000 รายการ

แต่หากย้อนหลังดูจากมาตราการด้านปราบปรามขององค์การอาหารและยา
เจ้าหน้าที่จับผู้กระทำความผิดด้านยา 59 รายการ อาหาร 35 รายการ และเครื่องสำอาง 26 รายการ

มาตราการระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพปี 2560 ได้ตรวจสอบเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สำคัญ เช่น

การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางห้องปฏิบัติการและชุดทดสอบ จำนวน 22,472 รายการ

การตรวจสอบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ จำนวน 25,847 รายการ

การตรวจผลิตภัณฑ์ทางกายภาพ ฉลาก และเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 390,566 รายการ

เมื่อตรวจพบการกระทำผิดจะดำเนินคดีตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง