ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชีวิตสัตว์ทะเลพิการ เหยื่อขยะพลาสติก

สังคม
5 มิ.ย. 61
14:18
10,157
Logo Thai PBS
ชีวิตสัตว์ทะเลพิการ เหยื่อขยะพลาสติก
สัตวแพทย์ สะท้อนปัญหาสัตว์ทะเลพิการ 5-10% สาเหตุจากถุงพลาสติกในทะเล ตะลึงเจอเต่าขาขาดหลังถูกถุงพลาสติกรัดแน่นจนขาดเลือดกลายเป็นเต่าพิการ วอนคนไทยลดใช้ถุงพลาสติก

"วาฬนำร่องครีบสั้นที่เกยตื้นบริเวณคลองนาทับ จ.สงขลา มีขยะในท้อง 85 ชิ้น น้ำหนัก 8 กิโลกรัม ไม่รู้ว่าเข้าไปอย่างไรมากขนาดนั้น พบขยะเยอะที่สุด เป็นเหตุการณ์สะเทือนใจที่สุดของพวกเราแล้ว" สัตวแพทย์เล่าถึงสัตว์ทะเลเคสล่าสุดที่ตกเป็นเหยื่อของถุงพลาสติก

นอกจากสัตว์ทะเลที่ตายจากผลกระทบของขยะพลาสติกแล้ว ยังมีอีกหลายชีวิตที่กลายเป็นสัตว์พิการ บางตัวไม่สามารถปรับตัวและใช้ชีวิตในทะเลได้อีก

 

 

น.สพ.วีรพงษ์ เหล่าเวชประสิทธิ์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เล่าว่า เคยเจอเคสเต่าที่ถูกขยะถุงพลาสติก และเครื่องมือประมงเกี่ยวรั้งรอบขาจนขาขาด เนื่องจากการขาดเลือด หรือกินขยะเข้าไปแล้วอุดตันระบบทางเดินอาหารจนตาย ส่วนใหญ่เต่าที่ติดเชื้อแบคทีเรียจนป่วยจะไม่มีแรงว่ายขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ทำให้ขาดแร่ธาตุ ไม่สามารถจมตัวได้ และสมองเริ่มสั่งการให้กินสิ่งแปลกปลอมที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นขยะมากกว่าสาหร่าย

 

 

เมื่อก่อนเราคิดว่าสัตว์ทะเลเกยตื้นจากขยะทะเล ติดเครื่องมือประมง เพียงร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันมีตัวเลขเพิ่มขึ้น จากประสบการณ์ของหมอคาดว่าปีนี้มีปริมาณเกินครึ่งกับสัตว์ที่ป่วยเองและเกยตื้น เพราะเมื่อสัตว์ถ่ายออกมาจะพบถุงพลาสติก หรือเชือกไนล่อน

 

การรักษาเต่าที่กินขยะเข้าไปนั้น สัตวแพทย์จะใช้กล้องส่องเข้าไปคีบขยะออก และผ่าตัดเปิดกระดอง เปิดกระเพาะอาหาร ซึ่งมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งที่มีความพร้อมของอุปกรณ์ หากปล่อยทิ้งไว้ขยะ จะครูดกระเพาะอาหารจนเป็นแผล และติดเชื้อในกระแสเลือด หรือพลาสติกจะม้วนตัวเองจากการย่อยของกระเพาะอาหาร

 

หมอเจอทั้งถุงมือล้างส้วมสีส้ม ถุงพลาสติกจากบ้านเรือน ถุงขนมขบเคี้ยว อยู่ในกระเพาะอาหารเต่า บางครั้งถุงพันรอบแขนจนแขนขาด บางครั้งเต็มแน่นกระเพาะอาหาร

 

 

ส่วนเต่าที่ถูกพลาสติกเกี่ยวรั้งภายนอกจนแขนขาด จะต้องผ่านช่วงที่ยากลำบากในขั้นตอนแรก คือการทำให้สัตว์กลับมามีชีวิต ลดการติดเชื้อ ลดการอักเสบ ไม่ให้สัตว์เจ็บปวด หรือทรมานจากภาวะที่ถูกพลาสติกเกี่ยวรั้ง รวมถึงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ใช้เวลา 2 เดือนในการรักษาจนแผลแห้งและปิดสนิทดี จากนั้นเต่าต้องปรับตัวและใช้ชีวิตด้วยขาที่เหลืออยู่ 2-3 ขา ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หากมีศักยภาพในการจมตัว หรือหาอาหารกินเอง ก็จะนำกลับคืนสู่ทะเล

 

ต้องคิดว่าสัตว์ที่เหลือ 2-3 ขา ปล่อยคืนสู่ทะเลแล้วเขาเอาตัวรอดได้ไหม ถ้าว่ายน้ำกินปลาไม่ทัน ก็จะเข้าสู่วงจรกินขยะทะเล ส่วนใหญ่ปล่อยไม่ได้ เพราะกระดองผิดรูป สูงโกง จากการที่เขาพยายามปรับตัว จนกระทั่งจมตัวไม่ได้เข้าสู่วงเวียนกินขยะทะเลอีกครั้ง สุดท้ายต้องเลี้ยงเขาไว้ตลอดชีวิต

 

นอกจากนี้ ปัญหาขยะทะเลยังส่งผลกระทบกับการวางไข่ของเต่า จากการลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ชายหาดแห่งหนึ่ง จ.ชลบุรี พบว่า ขยะถุงพลาสติกและฝาขวดน้ำถูกพัดมาบนชายหาดจำนวนมาก เต่าจะต้องแทรกตัวผ่านขยะ เพื่อวางไข่และฝังกลบด้วยขยะ 

น.สพ.วีรพงษ์ บอกว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการทิ้งขยะให้ลงถัง น่าจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาขยะแล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าขยะปริมาณมาก ประกอบกับการจัดการที่ไม่ดีพอ จะล้นออกไปในทะเล ซึ่งเคสสัตว์ทะเลป่วยและตาย น่าจะมากพอที่ทำให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการลดใช้พลาสติก

 

 

สถิติปี 2558-2560 ทช. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรในพื้นที่ มหาวิทยาลัย ชุมชนมากกว่า 25 แห่ง และอาสาสมัครชุมชนกว่า 800 คน ช่วยเหลือและจัดการสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น เฉลี่ยปีละ 419 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล ร้อยละ 57 โลมาและวาฬ ร้อยละ 38 และพะยูน ร้อยละ 5 สาเหตุการเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูนส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องประมง ร้อยละ 74 และ ร้อยละ 89 ตามลำดับ ส่วนการเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ ร้อยละ 63

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

20 กระทรวง Kick Off ลดใช้ถุงพลาสติก-โฟม 

รวมสัตว์โลกหลากชนิด สังเวยชีวิตจากขยะ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง