เส้นทางพระเครื่องสู่รายได้วัด

สังคม
8 มิ.ย. 61
10:25
3,920
Logo Thai PBS
เส้นทางพระเครื่องสู่รายได้วัด
ในวงการพระเครื่องมีการเช่าบูชากันตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลายสิบล้านบาท แต่หากพูดถึงต้นทุนของพระเครื่องแต่ละรุ่น จะพบว่ามีค่าการตลาดสูงกว่าค่าการผลิต และวัดไม่ใช่ผู้รับผลประโยชน์เพียงรายเดียว

วันนี้ (8 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "พระเครื่อง" เป็นวัตถุมงคลที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน วัดมูลค่าจาก "ศรัทธา" คงประเมินค่าไม่ได้ แต่วัดจากต้นทุน "การผลิต" ไปจนถึงปลายทาง "การเช่าบูชา" จะเห็นเส้นทางของการผลิตพระเครื่องที่เริ่มจาก "วัด" ซึ่ง 10 ปี มานี้ "พระเครื่อง" มีชื่อเสียงมากที่สุด คงหนีไม่พ้น "จตุคามรามเทพ" ครั้งหนึ่งทำให้มีเงินสะพัดกว่า 40,000 ล้านบาท

ขั้นตอนการสร้าง "เหรียญจตุคาม" ซักรุ่นหนึ่ง เริ่มจากวัดที่ต้องการจะสร้างพระเครื่อง แต่วัดไม่มีคอนเนคชั่นที่ดีกับ "โรงหล่อ" ที่มีฝีมือ - ราคาที่เหมาะสม ขั้นตอนนี้จะต้องอาศัย "เซียนพระ" ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นตัวกลาง จากนั้น "เซียนพระ" จะติดต่อกับ "โรงหล่อ" ในการผลิตเหรียญ ก่อนจะนำไปเข้าสู่ "พิธีพุทธาภิเษก" หรือ "พิธีเทวาภิเษก" โดย "เกจิอาจารย์" ชื่อดัง

ยกตัวอย่าง การสร้างจตุคาม 1 รุ่น ขั้นต่ำ 10,000 เหรียญ ขั้นตอนในโรงหล่อ การแกะบล็อก ขั้นต่ำ 50,000 บาท ทั้งเนื้อผงและเนื้อโลหะ ค่าปั้ม ราคาค่าปั้มแต่ละเนื้อแตกต่างกัน ราคาแพงอย่างเนื้อเงิน และเนื้อทองคำ ต้นทุนรวม 150,000 บาท เฉลี่ยเหรียญละ 15 บาท

ผ่านขั้นตอนของโรงหล่อ จะต้องผ่านการพุทธาภิเษก ขั้นตอนนี้ "เซียนพระ" จะเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงประวัติของ "พระเครื่อง" และ "เกจิอาจารย์" ที่สำคัญ คือเซียนพระมักมี "สื่อ" อย่างหนังสือพระอยู่ในมือ

ดังนั้น การสร้างเหรียญจตุคามรามเทพ 1 รุ่น 10,000 เหรียญ ราคาเช่าเหรียญละ 300-500 บาท ทำให้มีรายได้ 5,000,000 บาท หักต้นทุนการผลิต 150,000 บาท มีกำไร 4,850,000 บาท กำไรที่ได้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่าง วัด - เซียนพระ (คนกลาง) ว่าจะแบ่งเงินส่วนนี้อย่างไร

เปรียบเทียบกับปัจจุบัน ต้นทุนไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น สำรวจจากโรงหล่อแห่งหนึ่ง จ.นครปฐม มีส่วนของ "เนื้อเงิน - เนื้อทองคำ" ที่ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญ คือการจัดทำ "โค้ด" 1,000-2,000 บาท

จากต้นทางการผลิต จะเห็นได้ว่าต้นทุนสร้างพระเครื่องไม่ได้สูง แต่ขั้นตอนทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และพิธีวิธีในการปลุกเสกโดยเกจิอาจารย์ชื่อดัง จะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของพระเครื่องแต่ละรุ่น แม้ความเชื่อ-ศรัทธา ประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่รายได้ที่เข้า-ออกวัด หรือการประกอบพิธีกรรม ควรตรวจสอบให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ความเชื่อและศรัทธาของผู้คน นำมาซึ่งการทุจริตเงินที่เกี่ยวข้องกับวัด

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง