ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อนุสัญญาบาเซลไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่การจัดการภายในประเทศ

สังคม
16 มิ.ย. 61
13:59
3,484
Logo Thai PBS
อนุสัญญาบาเซลไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่การจัดการภายในประเทศ
นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ อนุสัญญาบาเซลมีข้อดีมากกว่าเสีย ต้นเหตุขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักมากจากการควบคุมภายในประเทศ

ภายหลัง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เสนอให้ยกเลิกการเป็นภาคีภายใต้อนุสัญญาบาเซล ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ ยอมรับว่าอยู่ระหว่างการทบทวนทางเลือกในการหยุดนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ชั่วคราวหรือถาวร เพื่อจัดการกับปัญหาลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย

ทีมข่าวไทยพีบีเอสได้สัมภาษณ์ นางสาวสุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาสถานการณ์ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายขยะเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลและการหาทางออกเรื่องนี้ 

อนุสัญญาบาเซล มีคุณ-โทษ หรือมีผลต่อการนำเข้า-ส่งออก ขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร ?

เป็นอนุสัญญาฯ ที่ควบคุมการเคลื่อนย้าย หรือ การนำเข้า-ส่งออกของเสียอันตรายข้ามแดน เจตนารมณ์คือการคุ้มครองประเทศกำลังพัฒนาไม่ให้เป็นที่ดัมพ์ (dump) ขยะอันตรายจากประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นการเป็นภาคีเป็นเรื่องที่ดี เพราะเกือบทุกประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก มีไม่กี่ประเทศที่ไม่เข้าร่วม ถ้ามองข้อดีจะมีมากกว่าข้อเสีย แม้ว่าอนุสัญญาบาเซลจะไม่ใช่เครื่องป้องกันการนำเข้าของเสียอันตรายที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการควบคุม โดยเฉพาะหน่วยงานหน้าด่านและหน่วยงานผู้อนุญาตนำเข้า

ยกตัวอย่างข้อดี-ข้อเสีย อนุสัญญาฯ ?

ข้อดีคือเราส่งออกของเสียอันตรายที่ไม่สามารถกำจัดเองได้ ไปยังประเทศที่มีโรงงานกำจัด ถ้าถอนตัวจะส่งออกไม่ได้ เพราะมีมาตราหนึ่งห้ามรับของเสียจากประเทศที่ไม่ใช่ภาคี ยกตัวอย่าง หม้อแปลงไฟฟ้า ที่มีสารพีซีบี ซึ่งเป็นสารที่ผลกระทบต่อร่างกาย จะต้องส่งออกไปยังยุโรปเพราะจัดการเองไม่ได้ 

แต่จุดอ่อนคือผู้ประกอบการบางคน ไม่ได้สำแดงของที่นำเข้าเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่บอกว่าเป็นขยะที่ใช้แล้วและยังใช้การได้อยู่ ซึ่งอนุสัญญาฯ ตามไปไม่ถึง เนื่องจากบาเซลจะควบคุมเฉพาะ “เวสท์” (waste) หรือของเสีย ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการบอกว่าเป็นของใช้แล้ว แต่ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ พวกของมือสอง ก็ติดตามไม่ได้ จึงขึ้นอยู่กับประเทศผู้นำเข้า ว่าจะมีกลไกติดตามแค่ไหน อย่างไทยก็มีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ออกกฎควบคุม

กรณีดังกล่าวจึงทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไล่ตามไม่ทัน ?

ใช่ เพราะทั้งการสำแดงเป็นของมือสอง และการแจ้งเป็นของไม่มีอันตราย เช่น ตั้งใจนำเข้าของอันตราย แต่แจ้งว่าเป็น “สแครป” (ชิ้นส่วนโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรม) แต่กลับแฝงด้วยขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมในไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเศษโลหะบางอย่างเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ ไม่สามารถใช้วัตถุที่เป็นของมือหนึ่งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ทำไมต้องส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดในต่างประเทศ ไทยจัดการเองไม่ได้หรือ ?

การกำจัดมีต้นทุนสูงและใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การจะตั้งโรงงานกำจัดขยะเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของภาครัฐและกฎหมาย ถ้าให้โรงงานรีไซเคิลจัดการเอง โรงงานเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะอาจจะมีปริมาณขยะรีไซเคิลไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถนำเข้าขยะที่มูลค่าได้ ดังนั้นเมื่อคิดว่าไม่คุ้มก็ต้องส่งออกไปประเทศที่มีโรงงานรองรับ ยกตัวอย่าง กรณีญี่ปุ่นมีโรงงานจัดการปรอทครบวงจร แต่มีวัตถุดิบน้อยและไม่คุ้มค่า ทำให้ปัจจุบันเหลือโรงงานใหญ่เพียงแห่งเดียว สรุปคือรีไซเคิลของเสียอันตรายที่ไม่มีมูลค่า ใช้งบฯสูง จะไม่มีโรงงานมากำจัดขยะเหล่านี้เกิดขึ้น 

ไทยนิยมส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดการเองไม่ได้ไปที่ไหน ?

ส่งไปแถบยุโรป จำไม่ผิดคือฝรั่งเศส ซึ่งมีต้นทุนในการส่งออกสูง ค่ากำจัดสูงมาก เลยมีเคสที่โรงงานไทยลักลอบส่งออกของเสียอันตรายไปประเทศอื่นเหมือนกัน

อนุสัญญาฯ ไม่ลงรายละเอียดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นปัญหา กลายเป็นช่องโหว่หรือไม่ ?

อนุสัญญาฯ ไม่ได้ควบคุมทุกประเภท แต่จะบอกแค่ชิ้นส่วนหลักที่มีองค์ประกอบของโลหะหนัก เช่น สารใดบ้างที่มีแล้วเป็นอันตราย ฯลฯ ซึ่งอาจจะทำให้มีช่องโหว่ช่องว่าง ทำให้ผู้นำเข้าอ้างว่าของนั้นไม่มีอันตราย แต่จริงๆ แล้วมีอันตราย เช่น สายไฟ ที่มีชิ้นส่วนของทองแดง ถ้าเข้าสู่โรงงานที่มีการกำจัดถูกต้องก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นโรงงานที่ไม่มีระบบคัดแยก หรือ ชุมชนที่ทำแบบบ้านๆ เช่น สายไฟปอกยาก ก็เผาเสียเลย ซึ่งการเผาพลาสติกที่สารพีวีซีจะก่อให้เกิดอันตราย เมื่อสารเคมีเข้าสู่ร่างกายจะเป็นสารก่อมะเร็ง

การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกมองเชิงลบทั้งหมด ควรมองสองด้านหรือไม่ ?

แน่นอน มีทั้งบวกและลบ หน่วยงานที่อนุญาตนำเข้าต้องพิจารณาว่าเราได้อะไร ที่ผ่านมามีการอนุญาตขยะบางประเภทที่ไม่มีอันตราย คิดว่าโรงงานกำจัดได้ และเป็นประโยชน์ต่อโรงงาน เช่น เศษโลหะ ตะกัน ดีบุก แต่อย่างตอนนี้มีข่าวก็ดี เพราะจะทำให้เราตื่นตัว แต่อย่าเหมารวมว่าทุกอย่างอันตราย เพราะขึ้นอยู่กับการควบคุม ระบบคัดแยก และการตรวจสอบที่เข้มข้น

ดังนั้นจึงควรมีนโยบายในการควบคุมที่ชัดเจน เช่น ตั้งเป็นเงื่อนไขโรงงาน ว่าถ้าจะใช้ชิ้นส่วนเหล่านี้จะต้องใช้จากในประเทศก่อน หรือใช้เกินกว่าครึ่ง จึงจะสามารถนำเข้าเพิ่มเติม ภายใต้การกำกับที่เข้มงวดมากขึ้น

มุมมองของอาจารย์เหมือนอนุสัญญาบาเซลมีข้อดี ไม่มีปัญหา แต่ต้นเหตุคือกระบวนการติดตาม ?

ใช่ เพราะการแก้ปัญหานี้อยู่ที่การปรับปรุงระบบดูแลในประเทศ ดังนั้นข้อเสนอระยะยาว ไทยควรมีกฎหมายเฉพาะที่รองรับการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย เพราะปัจจุบันไทยยังใช้ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย (ปี 2535) อยู่ ซึ่งไม่ได้ออกแบบมาเพื่ออนุสัญญานี้โดยเฉพาะ 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ผลตรวจเข้มโรงงาน จ.สระแก้ว พบแอบทิ้งขยะพิษกลาง ”ทุ่งนา”

ปลดล็อกผังเมือง ผุดโรงงานขยะพิษ 

"ศุลกากร" ส่งคืนขยะพิษ 40 ตู้คอนเทนเนอร์กลับประเทศต้นทาง

ลุ้น "1 แสน" รายชื่อ ดึง "ห้าง-ร้านดัง" คิดค่าถุงพลาสติก

พักใบอนุญาต 5 บริษัท นำเข้า "ขยะพิษ"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง