ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Insight : ประกันภัยพืชผล ช่วยรัฐลดงบเยียวยา-เกษตรกรได้คุ้มเสีย

20 ส.ค. 61
10:10
2,302
Logo Thai PBS
Insight : ประกันภัยพืชผล ช่วยรัฐลดงบเยียวยา-เกษตรกรได้คุ้มเสีย
ความเสี่ยงของอาชีพเกษตกร คือ ภัยพิบัติ ที่ผ่านมารัฐต้องสูญงบประมาณจำนวนมากเพื่อเยียวยาความเสียหาย ระบบประกันภัยพืชผล เป็นอีกหนึ่งกลไกที่เข้ามาช่วยลดความเสี่ยง แม้รัฐใช้ความพยายามผลักดันหลายปีแต่ยังไม่ได้รับความสนใจจากเกษตรในวงกว้าง

แม้การพยากรณ์อากาศจะมีความแม่นยำมากขึ้นและถูกเผยแพร่ในวงกว้าง แต่สภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรงขึ้นทุกวัน ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติ กลายเป็นความเสี่ยงของคนทั้งโลก ไม่เว้นแม้แต่ ภาคการเกษตร “ระบบการประกันภัยพืชผล” จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเกษตรกรลดผลกระทบความสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

แต่ระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรไทย แม้ระบบนี้กรมการประกันภัย หรือ คปภ. ในปัจจุบัน จะเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2513 และรับประกัน พืชฝ้าย เป็นชนิดแรก ใน ปี 2521 จากนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้ดำเนินการเรื่อยมา แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม และไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องเข้าใจก่อนทำแล้ว เกษตรกรอาจต้องเสียเงินค่าเบี้ยประกันเพิ่มเติมด้วย ขณะที่รัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยายามเมื่อภัยพิบัติมาตลอด

รัฐใช้กลไกประกันภัยจริงจัง เริ่มที่ “ข้าว”

ปี 2559 รัฐเดินหน้าระบบประกันภัยพืชผลอย่างจริงจัง ใช้กับพืชหลักของประเทศ คือ โครงการประกันภัยนาข้าว แต่ยังต้องใช้การอุดหนุนมาเป็นตัวจูงใจ
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 วงเงิน 2,071 ล้านบาท รัฐบาลและ ธ.ก.ส. รับภาระจ่ายเบี้ยประกันให้ทั้งหมด (จากเดิมที่ให้เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่ง ปีล่าสุด 2561 ค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ รัฐจ่าย 54 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส. 36 บาทต่อไร่ )
ให้คุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหมด 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บและไฟไหม้ วงเงินความคุ้มครอง 1,260 บาท/ไร่

ส่วนกรณีเกิดความเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง 630 บาท/ไร่ คาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ราว 1ล้าน5แสนราย ครอบคลุมพื้นที่ 30 ล้านไร่ จากนาข้าวทั้งประเทศ 62 ล้านไร่ แต่เกษตรกรก็เข้าโครงการน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงยังทำควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเยียวยา ตามเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรฯ

มั่นใจระบบประกันภัยพืชผลลดภาระให้เกษตรได้คุ้มทุน

หากพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรได้รับภัยพิบัติ รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยา ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยจ่ายเงินชดเชยความเสียหายข้าวไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาท พืชอื่นๆ 1,690 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ซึ่งเป็นจำนวนจำกัด ซึ่งหากเกษตรกรทำประกันภัยพืชผลไว้ด้วย ก็จะได้รับการคุ้มครองเพิ่มเติมจากการเคลมประกัน
โดยยกตัวอย่าง นาข้าว 1 ไร่ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบ รวมกับ การทำประกันภัยนาข้าว เกษตรกรจะได้รับเงินทั้งหมด 2,373 บาทต่อไร่ ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการนำไปลงทุนรอบใหม่ (ข้อมูล สศก. ต้นทุนข้าว 4,500 บาทต่อไร่)

นาย เกตโกมล ไพรทวีพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจประกันภัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส ระบุว่า แม้ปีล่าสุด จะมีเกษตรกรเข้าโครงการประกันภัยพืชผลน้อยกว่าเป้าหมาย แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมาจากปี 2554-2561 เริ่มมีพัมนาการที่ดี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากจขึ้น มีบริษัทรับทำประกันภัยมากขึ้นต และเมื่อเกิดความเสียหาย ก็มีกระบวนการการจ่ายสินไหมขึ้นจริง สะท้อนว่า ระบบประกันภัยเดินหน้าต่อได้ กับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ของประเทศ


ระบบประกันภัย นอกจากจะช่วยบรรเทาผลกระทบยามเกิดภัยพิบัติให้กับเกษตรกรได้แล้ว อนาคตถ้าระบบนี้เป็นที่ยอมรับและแพร่หลาย อีกด้านก็จะช่วยลดงบประมาณรัฐที่ใช้เยียวยาภาคการเกษตรที่ต้องเสียไปในแต่ละ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปีได้ด้วย

ซึ่งก่อนที่จะมีการขยายการประกันภัยพืชผลออกไปยังพืชอื่นๆ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัย ลงนามร่วมกัน ในโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตร โดยเอ็มโอยูครั้งนี้จะมีการนำปัจจัยเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนแล้ง และความแม่นยำของการสำรวจความเสียหาย มาศึกษาวิจัยเพื่อให้การจ่ายสินไหมทดแทนหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ มีความรวดเร็วและเป็นธรรมกับเกษตรกร มากขึ้น


ปัจจุบัน ธ.ก.ส. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสมาคมประกันภัย อยู่ระหว่างทำงานร่วมกัน โดยพืชไร่ เช่น ข้าวโพด จะคิดเบี้ยประกันที่ 70-90 บาท ต่อไร่ เมื่อเสียหายจะคุ้มครอง ที่ 1,480 บาท/ไร่

ส่วนโคนมเบี้ยประกัน จะอยู่ที่ 660 บาทต่อตัว เเละเมื่อเสียหายจะคุ้มครองที่ตัวละ 18000-20000 บาท คาดการณ์ว่ารายละเอียดทั้งหมดน่าจะชัดเจนสิ้นเดือนนี้


สิริมา ทรงกลิ่น @sirima_ThaiPBS

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง