วันนี้ (27 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์คนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น พุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข โดย นพ.วีระพันธ์ สุวรรณไชยมาตย์ รองประธาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ระบุว่า สถานการณ์คนไร้บ้านในประเทศไทย กรุงเทพมหานครยังคงมีคนไร้บ้านมากที่สุด จำนวน 1,307 คน ขณะที่ จ.ขอนแก่น มีคนไร้บ้านเป็นอันดับ 2 คือ 136 คน และ จ.เชียงใหม่ มีจำนวน 75 คน ซึ่งคนไร้บ้านส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต
คำว่า คนไร้บ้าน เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์แต่จริงๆ เขาไร้ทุกอย่าง เขาไม่ได้ขาดแค่บ้าน แต่ขาดทุกอย่างที่มนุษย์พึงมี ทำให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้ยาก
นพ.วีระพันธ์ กล่าวอีกว่า คนไร้บ้านที่ชนบทมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมือง เนื่องจากชนบทรู้จักกันทุกคน อาศัยใต้ถุนบ้าน อาศัยวัดได้ ทำให้ไม่มีปัญหา แต่ในเมืองใหญ่เป็นปัญหามาก บางคนเคยจำคุก บ้านแตกสาแหรกขาด ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัย บางคนมีอาการป่วย และส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิพื้นฐาน ซึ่งเรื่องนี้สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ปัจจุบัน คนไทยยังมองปัญหาคนไร้บ้านเป็นเรื่องเล็ก พื้นที่เมืองกว่าร้อยละ 60 ของประเทศ กำลังจะสร้างคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้น
คนไร้บ้าน แม้แต่บัตรประชาชนก็ไม่มี ไม่เท่าเทียมแม้กระทั่งสวัสดิการครอบครัว ต้องพัฒนาสิทธิเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ให้โอกาสเขากลับมาเริ่มใหม่ มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ชุมชนบำบัดให้เขาอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ด้าน เบญจมาศ ชุมภรีนอก หรือ พี่จุ๋ม ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน ระบุว่า ขอนแก่นมีคนไร้บ้าน 136 คน โดยอาศัยอยู่ 5 พื้นที่หลัก คือ บึงแก่นนคร ชุมชนเทพรักษ์ ศาลหลักเมือง ตลาดรถไฟ ประตูเมืองเซ็นทรัล ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพและมีปัญหาด้านสุขภาพ พิการ ความดัน เบาหวาน และไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จึงทำให้คนไร้บ้านต้องใช้บริการร้านขายยา คนนอกมองคนไร้บ้านว่าอันตราย น่ากลัว เคยจำคุกมาก่อน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงงานและมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงได้
นำร่องแก้ปัญหาคนไร้บ้าน "ไร้สิทธิ-เสี่ยงโรค"
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กศน. สสส. เครือข่ายประชาสร้างสรรค์ และสมัชชาสุขภาพขอนแก่น รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการลงพื้นที่ พูดคุย สอบถามความเป็นอยู่กับคนไร้บ้านกว่า 2 ปี โดยในแต่ละพื้นที่จะมีคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ลงพื้นที่ การทำงานจึงค่อนข้างยาก
ลงพื้นที่ช่วงแรกเราก็กลัวเขานะ เขาก็กลัวเรา แต่พยายามคุย ถามสาเหตุที่ออกจากบ้าน ส่วนใหญ่รักอิสระ มีปัญหาความรุนแรงในบ้าน บางคนเป็นเพศสภาวะ ในชนบทพอเป็นลูกชาย ก็จะถูกตั้งคำถาม เมื่อไหร่จะแต่งงาน จะมีลูก การออกจากบ้าน คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ต้องตอบคำถามเหล่านั้น
หลังจากลงพื้นที่หลายครั้งจนมีคนไร้บ้านจำคณะทำงานได้บางส่วนและเริ่มเชื่อใจ คนเหล่านี้ก็จะคอยบอกข้อมูลว่า "คนนี้มาใหม่ เนื่องจากไม่เคยเจอ คนนี้ไม่อยู่แล้ว" ซึ่งส่วนนี้จะช่วยให้การเก็บข้อมูลสะดวกขึ้น จากนั้นได้เริ่มสำรวจปัญหาที่คนไร้บ้านต้องเผชิญ แล้วจัดประชุมกลุ่มย่อยแต่ละจุด เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ของคนไร้บ้านในทุกสัปดาห์
ขณะที่กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จัดกิจกรรมเดินกาแฟ หรือการนำอาหารและน้ำไปให้แก่คนไร้บ้านเพื่อสร้างความไว้วางใจทุกเดือน ครั้งละ 3-4 วัน หลังจากนั้นได้เปิดโต๊ะให้ลงทะเบียนสำหรับปัญหาด้านบัตรประจำตัวประชาชน ปัญหาด้านสุขภาพ และปัญหาว่างงาน โดยดำเนินการให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐาน ได้แก่ บัตรประชาชน บัตรผู้พิการ และบัตรผู้สูงอายุแล้ว จำนวน 39 คน
ทั้งนี้ ได้สนับสนุนคนไร้บ้านเข้าถึงการรักษาพยาบาลและตรวจสุขภาพโดยละเอียด จำนวน 24 คน พร้อมผลักดันให้ผู้ประกอบการรับคนไร้บ้านเข้าทำงาน ทำให้คนไร้บ้านเกิดรายได้แล้วจำนวน 12 คน และได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยจะเป็นบ้านพักสำหรับกลุ่มคนไร้บ้านให้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และสันบสนุนให้มีการทำสวนผัก เพื่อเลี้ยงชีพและยังชีพ โดยให้คนไร้บ้านออกค่าใช้จ่ายเป็นค่าน้ำ-ค่าไฟ เพื่อร่วมกันบำรุงศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน
บาดเจ็บ - หวาดระแวง ชีวิตมืดมนคนไร้บ้าน
นายสำเนา เชื้อนอก หนึ่งในคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น ระบุว่า ตนและภรรยาได้เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านเป็นคู่แรก แต่เนื่องจากศูนย์ยังสร้างไม่เสร็จ จึงได้อาศัยในบ้านที่สร้างขึ้นเองด้วยสังกะสี ก่อนหน้านี้ชีวิตลำบากมาก เนื่องจากมีปัญหากับญาติที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น จึงได้ตัดสินใจออกจากบ้านมาที่ อ.เมืองขอนแก่น และอาศัยอยู่ในที่ต่างๆ ไม่เป็นหลักแหล่ง จนกระทั่งได้ไปอยู่บริเวณบึงแก่นนครก็เริ่มปักหลักหาของเก่า เก็บขวดพลาสติกและลังกระดาษขาย
ตอนไปเก็บของเก่าก็ตั้งกระเป๋า ของส่วนตัวไว้ กลับมาของก็หายไปแล้ว หลังๆ เริ่มมีวัยรุ่นมาขอเงิน 100 บาทบ้าง 50 บาทบ้าง เราหาได้วันหนึ่งก็ไม่กี่ร้อย บางวันไม่เหลือเงินสักบาท วันไหนไม่ให้ก็ทำร้าย ไล่หนี เคยถูกต่อย ปาของใส่จนหัวแตก ไปหาหมอเขาก็ไม่รักษาเพราะไม่มีบัตรอะไรเหลือติดตัวเลยถูกขโมยไปหมด
นายสำเนา เล่าว่า สิทธิบัตรทองของตนอยู่ที่ อ.กระนวน ทางโรงพยาบาลแจ้งให้ย้ายสิทธิมาที่โรงพยาบาลจึงจะรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ตนไม่มีเงินเพียงพอที่จะเดินทางไป อ.กระนวน จึงทำได้แค่ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และทำแผลง่ายๆ โดยซื้ออุปกรณ์จากร้านขายยาเท่านัน หลังจากเกิดเหตุการดังกล่าวก็ทำให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดระแวง เนื่องจากไม่รู้ว่าภัยจะมาถึงตัวเมื่อใด
โชคดี พี่จุ๋มชวนมาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน แต่เขาก็บอกว่าบ้านยังสร้างไม่เสร็จนะ เราก็บอกไม่เป็นไร มาถึงก็สร้างบ้านเอง น้ำ-ไฟยังไม่มีก็หาบน้ำมาใช้ก่อน เพราะเราทนไม่ไหว ตอนนั้นกลัวมาก ห่วงภรรยาด้วยกลัวจะอันตราย เลยตัดสินใจว่าให้มีบ้านอยู่ มีที่เก็บของ มีที่นอน ไม่ต้องหนีไปไหนอีก
นายสำเนา ย้ำว่า การมีบ้านอยู่แบบนี้ ถือเป็นความอบอุ่นและความสุขที่เกิดขึ้น ในอนาคตเจ้าหน้าที่เตรียมต่อไฟฟ้าและประปาให้ได้ใช้ แต่ยืนยันจะไม่ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ที่กำลังสร้าง เพราะแม้บ้านจะเป็นเพียงกระต็อบหลังเล็กแต่สองสามีภรรยาร่วกันสร้างขึ้นมาด้วยความรัก เตรียมปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ในพื้นที่รอบบ้าน เพื่อเก็บไว้รับประทานและแจกจ่ายให้กับเพื่อนคนไร้บ้านที่กำลังจเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันในศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ชุมชนเหล่านาดี 12 หากมีผลผลิตจำนวนมากก็จะทำการแบ่งไปขายสร้างรายได้ในครอบครัวและจะใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง